พิธีเถราภิเษกหรือฮดสรง

พิธีเถราภิเษกหรือฮดสรง เป็นงานประเพณีโบราณของชาวอีสานที่กระทำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนเป็นพิธีที่ ชาวพุทธอีสานประกอบขึ้นเพื่อประโยชน์อย่างน้อย ๒ ประการ คือเพื่อเป็นการถวายชั้นยศหรือสมณศักดิ์แด่พระมหาเถระ พระสงฆ์สามเณรผู้ทรงคุณและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อีกนัยหนึ่งกล่าวกันว่านอกจากจะเป็นศิริมงคลแก่ผู้เข้าร่วมพิธีดังกล่าวแล้ว เชื่อกันว่าผู้เข้าร่วมนั้นจะประสบแต่ความสุขสวัสดี เจริญด้วยจตุรพิธพรคืออายุ วรรณะ สุข และกำลังสติปัญญา พร้อมลาภยศ เพราะถือว่าเป็นผู้ได้ร่วมฮดสรงพระมหาเถระผู้มีความรู้ทางธรรม และจะได้รับส่วนแห่งบุญวาสนาบารมีของท่านเหล่านั้น

ดังนั้น ในสมัยโบราณหากมีพิธีเถราภิเษกฮดสรง ณ ที่ใดแล้ว ผู้คนจะหลั่งไหลเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก การพิธีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชั้นยศของพระสงฆ์อย่างไรนั้น ลำดับชั้นสมณศักดิ์ของพระสงฆ์อีสานในครั้งโบราณ นิยมถือตามแบบอย่างมาจากกรุงศรีสัตตนาคนหุต และเมืองหลวงพระบางในอดีต ซึ่งแบ่งเป็นลำดับชั้นได้ ดังนี้

๑. ชั้นสำเร็จ (แบ่งแห่งเรียก สมเด็จ)
๒. ชั้นชา (ปรีชา)
๓. ชั้นคู (ครู)
๔. ชั้นราชคู (สำหรับครูบาอาจารย์สอนลูกเจ้านาย)
๕. ชั้นเจ้าหัวคูฝ่าย
๖. ชั้นเจ้าหัวคูค้าน
๗. ชั้นเจ้าหัวคูหลักคำ
๘. ชั้นเจ้าหัวคูลูกแก้ว
๙. ชั้นเจ้าหัวคูยอดแก้ว
๑๐. ชั้นราชคูหลวง

สมณศักดิ์ตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ เป็นสมณศักดิ์ฝ่ายปริยัติ ส่วนข้อ ๕ ถึงข้อ ๑๐ เป็นสมณศักดิ์ฝ่ายบริหาร การเลื่อนสมณศักดิ์ฝ่ายปริยัติ พระภิกษุสามเณรจะได้รับสมณศักดิ์ชั้นใด จะต้องได้รับการศึกษาเป็นบันไดไต่ขึ้นเป็นชั้น ๆ ตามหลักสูตร การแบ่งหลักสูตรการศึกษาในสมัยโบราณมี ๓ ชั้น หลักสูตรชั้นหนึ่งๆ เรียกว่า "บั้น" ซึ่งมีดังนี้

บั้นต้น

๑. สูตรมนต์น้อย คือ ตั้งมุงคุลน้อย (มงคลน้อย) ได้แก่ ๗ ตำนาน สูตรมนต์หลวง คือ ตั้งมุงคุลหลวง (มงคลหลวง)ได้แก่ ๑๒ ตำนาน ไชยน้อย ไชยใหญ่ จบบริบูรณ์
๒. สูตรมนต์กลาง คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มหาสมัยสูตร อนัตตลักขณสูตร อาทิตตปริยายสูตร มาติกา แจง พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ พระวินัย พระสูตร
๓. สูตรมนต์ปลาย คือ สัททนีติปกรณ์ (บาลีมูลกัจจายนสูตร) อภิธัมมัตถสังคหบาลี ปาฏิโมกขบาลี

บั้นกลาง
๑. เรียนมูลกัจจายนสูตร เริ่มตั้งแต่สามัญญาภิธานและสนธิ นาม อาขยาต กิตก์ สมาส เป็นต้นไป ดุจเรียนบาลีไวยากรณ์ในสมัยนี้ แต่พิสดารมากและต้องเรียนจากพระคัมภีร์ใบลานอักษรขอม อักษรธรรมอีสาน ธรรมล้านนา และไทยน้อย
๒. แปลคัมภีร์บาลีอัฏฐกถาทั้ง ๕ คือ พระวินัยอัฏฐกถา อัฏฐากถาปาจิตตีย์ อัฏฐกถาจุลลวรรค อัฏฐกถามหาวรรค อัฏฐกถาปริวารวรรค
๓. อัฏฐกถาธรรมบทบาลี ๘ ภาค ประกอบด้วยปฐมภาโค ภาค ๑ ทุติยภาโค ภาค ๒ ตติยภาโค ภาค ๓ จตุตถภาโค ภาค๔ ปัญจมภาโค ภาค ๕ ฉัฏฐภาโค ภาค ๖ สัตตมภาโค ภาค๗ และ อัฏฐมภาโค ภาค ๘

บั้นปลาย
๑. คัมภีร์ทสชาติบาลี พระบาลีแสดงถึงเรื่องทศชาติของพระพุทธเจ้า
๒. มังคลัตทีปนีบาลี พระบาลีแสดงถึงเรื่องมงคล ๓๘ ประการ
๓. อัฏฐกถาวิสุทธิมรรคบาลี พระบาลีแสดงถึงเรื่องหนทางแห่งการปฏิบัติเพื่อถึงความบริสุทธิ์
๔. อัฏฐกถาอภิธรรมสังคหะบาลี พระบาลีแสดงถึงพระอภิธรรมขั้นสูง
ที่กล่าวมายังมีอีกอีกหลายพระคัมภีร์ที่ผู้ศึกษาต้องเรียนรู้ และการเรียนในสมัยนั้นอาศัยการท่องจำเป็นหลัก โดยพระอาจารย์ผู้สอนจะให้ท่องจำแบบปากต่อปาก หนังสือตำราไม่มีต้องเรียนและอ่านจากพระคัมภีร์ใบลานที่จารบทเรียนต่างๆ สืบทอดกันมา และอักษรที่ใช้จารไม่ใช้ภาษาไทยแต่ใช้อักษรธรรม

ผู้คนสมัยโบราณเคารพบูชาพระรัตนตรัยอย่างถึงที่สุด เมื่อจารึกเรื่องราวในพระพุทธศาสนาด้วยอักษรชนิดใด จะเรียกตัวอักษรที่ใช้จารข้ออรรถข้อธรรมนั้นว่า อักษรธรรม ประกอบด้วยธรรมอีสาน ใช้แพร่หลายในภาคอีสาน อักษรธรรมล้านนา ใช้ในภาคเหนือ อักษรขอมใช้ในภาคกลาง และอักษรไทยน้อยใช้ในประเทศลาวเมื่อครั้งโบราณ เป็นต้น เมื่อจารเป็นหนังสือใบลานแล้วจะต้องเคารพบูชาเสมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้ามเหยี่ยบย่ำ หรือประมาทพระคัมภีร์ เวลาถือก็ยกขึ้นสูงหรือพาดไว้บนบ่าของผู้ถือ เมื่อพระภิกษุสามเณรรูปใดมีความวิริยะอุตสาหะเล่าเรียนจนจบบั้นใดจากบั้นต้นมาบั้นปลาย ก็จะได้รับการยกย่องให้เป็นที่ปรากฏ โดยจะได้รับการถวายสมณศักดิ์ซึ่งมีลำดับชั้น ดังต่อไปนี้

ลำดับสมณศักดิ์ของสงฆ์ฝ่ายปริยัติ
๑. ชั้นสำเร็จ ผู้ที่จะได้ฐานันดรศักดิ์เป็นชั้นสำเร็จ จะต้องเรียนจบหลักสูตรบั้นต้นก่อน จะเป็น จัว หรือ เจ้าหัว ก็ได้ ย่อมได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นชั้นสำเร็จทั้งนั้น ทั้งนี้อาจจะเนื่องจาก ท่องบ่นจำได้สำเร็จในสวดมนต์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร เมื่อเป็นสำเร็จการเรียกเจ้าหัวเรียกสับเปลี่ยนกัน คือ ถ้าเป็นจัว ใช้คำว่า สำเร็จนำหน้า แล้วใส่ชื่อจัวรูปนั้น ๆ ต่อข้างหลัง เช่น สำเร็จจัวสา สำเร็จจัวมา ฯลฯ ถ้าเป็นเจ้าหัวใช้คำว่า สำเร็จไว้หลัง เช่น เจ้าหัวสำเร็จสี เจ้าหัวสำเร็จมี เป็นต้น
๒. ชั้นชา คำว่า "ชา" คงหมายถึง ปรีชา นั่นเองแต่ตัดคำต้นออกคงไว้เพราะชาตัวเดียวซึ่งหมายถึง ฉลาด รอบรู้ หรือคงแก่เรียน ตรงกับคำว่า ปริญญาหรือเปรียญในปัจจุบัน คนอีสานออกเสียงว่า ซา ผู้ที่จะได้เลื่อนสมณศักดิ์ชั้นนี้จะต้องผ่านชั้นสำเร็จมาก่อน แล้วพยายามเล่าเรียนจบหลักสูตรบั้นกลาง จนมีปรีชาสามารถรอบรู้แตกฉานแตกในพระไตรปิฏกควรแก่การเลื่อนสมณศักดิ์ชั้นนี้ จะเป็นจัวหรือเจ้าหัวก็ได้ ถ้าเป็นจัวเรียกว่า ซาจัว ถ้าเป็นเจ้าหัวเรียกว่าเจ้าหัวซาแล้วใส่ชื่อจั่ว เจ้าหัว ต่อท้าย เช่น ซาจัวขาว เจ้าหัวซาแดง เป็นต้น
๓. ชั้นคู ผู้ที่จะได้ชั้นนี้ จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ ประการคือ ๑.เรื่องอายุ พรรษา จะต้องพ้น นวกภูมิและมัชฌิมภูมิ ตั้งอยู่ในเถรภูมิ เรียกว่า มีวัยสมบัติอย่างหนึ่งและ ๒. เรื่องคุณวุฒิ จะต้องผ่านชั้นสำเร็จและชั้นซามาแล้ว มีอุตสาหะวิริยะ เล่าเรียนจบหลักสูตรบั้นปลายและค้นคว้าให้กว้างขวางยิ่งขึ้น อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า พหูสูต สมควรเป็นครูบาอาจารย์ได้ จัวเรียกว่าคูจัว เจ้าหัว เรียก เจ้าหัวคู เช่น คูจัวทอง เจ้าหัวคูเงิน เป็นต้น อนี่งผู้มีสมณศักดิ์เป็นชั้นคูนี้ถ้าได้รับอาราธนาให้เป็นครูอาจารย์สอนลูกเจ้านายหรือพระราชโอรส ร่วมกับปุโรหิตาจารย์ ก็เรียกว่า ราชคูจัว เจ้าหัวราชคู

ส่วนการเลื่อนสมณศักดิ์ฝ่ายบริหาร ตำแหน่งสมณศักดิ์ฝ่ายบริหารของ พระสงฆ์อีสานโบราณนั้น ผู้จะได้ตำแหน่งเหล่านี้ตามปรกติจะต้องมีคุณสมบัติต่อจากฝ่ายปริยัติ ๓ ขั้นดังกล่าวแล้วก่อน แต่อาจมีข้อยกเว้นสำหรับพระภิกษุผู้มีคุณธรรมสูง เป็นที่เชื่อถือและเคารพนับถือของพระภิกษุสามเณรและประชาชน ตำแหน่งฝ่ายบริหาร มีดังนี้

๑. คูฝ่ายหรือเจ้าหัวคูฝ่าย (ครูฝ่าย) เป็นตำแหน่งปกครองหมู่สงฆ์ส่วนหนึ่ง หรือฝ่ายหนึ่งและผู้จะรับตำแหน่งนี้ปรกติจะต้องเป็นเจ้าหัวคูมาแล้ว ซึ่งมีความรู้สามารถพอที่จะอบรมสั่งสอน และปกครองคณะสงฆ์ตลอดประชาชนพลเมืองให้ประพฤติปฏิบัติไปตามฮีตคอง (จารีตประเพณี) อันดีงาม ตำแหน่งนี้อาจเทียบได้กับเจ้าคณะหมวดหรือเจ้าคณะตำบลในปัจจุบัน
๒. คูด้านหรือเจ้าหัวคูด้าน (ครูด้าน)เป็นตำแหน่งปกครองหมู่สงฆ์ส่วนหนี่งจะมีอำนาจที่ต่างกับดูด้านอย่างไรยังคลุมเคลือไม่ชัดเจน บางท่านกล่าวว่าดูด้านเทียบกับเจ้าคณะแขวงหรือเจ้าคณะอำเภอในปัจจุบัน
๓. คูหลักคำ (ครูหลักคำ) เป็นตำแหน่งยศ ซึ่งปกครองคณะสงฆ์ในเขตกว้าง ประกอบกับผู้มั่นคงในพระธรรมเป็นหลักในการประกอบศาสนกิจเทียบได้กับหลักหล่อด้วยทองคำ บางทีเรียกว่า เจ้าหัวคูหลวง คงจะเนื่องจากได้รับแต่งตั้งจากหลวงหรือพระมหากษัตริย์ ตำแหน่งนี้เทียบได้กับคณะจังหวัดเพราะเมืองหนึ่งมีได้เพียงรูปเดียว
๔. คูลูกแก้ว (ครูลูกแก้ว) การแต่งตั้งดูลูกแก้ว ส่วนมากคงมีเฉพาะเวียงจันทร์และหลวงพระบางซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนา คงเหมือนเป็นทายาทของคูยอดแก้ว หรือมิฉะนั้นก็ช่วยราชภาระบริหารรองคูยอดแก้วซึ่งคล้อยรับภาระด้านบริหารฝ่ายซ้ายของราชคูหลวง คูยอดแก้วนั้นบริหารฝ่ายขวา ท่านผู้เป็นราชคูหลวงเป็นประมุขสงฆ์ตำแหน่งพระสังฆราชนั้นเอง


๕. คูยอดแก้ว (ครูยอดแก้ว) เป็นตำแหน่งรับสนองพระบัญชา ดุจตำแหน่งบัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราช เท่ากับตำแหน่งสังฆนายก ผู้จะได้รับตำแหน่งนี้จะต้องมีคุณสมบัติเป็นที่เคารพยำเกรงของสังฆมณฑล และประชาชนทั่วไปทั้งแคว้น ตำแหน่งนี้คงมีเฉพาะเมืองเวียงจันทน์เท่านั้นและตำแหน่งนี้สำคัญเท่ากับเป็นรองสมเด็จพระสังฆราช และคงจะเป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาและทรงประกอบพิธีเถราภิเษกด้วยพระองค์เอง
๖. ราชคูหลวง (ราชครูหลวง) คงเป็นตำแหน่งพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดทางคณะสงฆ์และคงมีแต่เฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น

เมื่อมีการสถาปนาและเลื่อนสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ผู้สำเร็จการศึกษาและทรงคุณธรรมชั้นสูงจนเป็นที่เคารพสักการะตามลำดับชั้นดังกล่าวมา ทุกลำดับชั้นต้องผ่านการถวายน้ำสรง การดังกล่าวจึงจะถือว่าเสร็จสมบูรณ์ พิธีการสรงน้ำนั้นก็คือพิธีฮดสรง หรือพิธีเถราภิเษกนั่นเอง

พิธีเถราภิเษก หรือฮดสรง

พิธีเถราภิเษกหรือฮดสรง ในสมัยโบราณเป็นพิธีเลื่อนสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ตามประเพณี ซึ่งมีความสำคัญเข้มขลังและศักดิ์สิทธิ์ เพราะบางชั้นสมณศักดิ์จะได้รับการเถราภิเษกฮดสรงจากพระมหากษัตริย์ และพิธีการสรงน้ำนี้ยังเป็นที่นิยมปฏิบัติสำหรับชาวเมืองโดยทั่วไปด้วย ชาวบ้านในหัวเมืองต่าง ๆ อาจจะจัดทำพิธีขึ้นเองในงานบุญตามประเพณี เช่น บุญบั้งไฟซึ่งนิยมทำในเดือนหก เป็นต้น ผู้ดำเนินการอาจะเป็นเจ้าผู้ครองเมืองพร้อมด้วยท้าวเพีย หรือตาแสง นายบ้าน ส่วนพิธีเถราภิเษกโดยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งโดยพระองค์เองเท่านั้น จะมีพิธีใหญ่โตและจัดบริขารเครื่องยศถวายเป็นพิเศษ

ส่วนพิธีเถราภิเษก หรือฮดสรงที่ทำในท้องถิ่นภาคอีสาน มีดังต่อไปนี้

อุปกรณ์การฮดสรง
๑. บริขารเครื่องยศ ธรรมเนียมการสถาปนาแต่งตั้งพระภิกษุสามเณร ผู้ทรงคุณวุฒิ เฉียบแหลมพระธรรมวินัย และเพียบพร้อมด้วยคุณความดี ให้ได้รับสมณศักดิ์ตามขั้นนั้น นิยมจัดหาบริขารเครื่องยศเพื่อถวายบูชาคุณความรู้ ความอุตสาหะวิริยะประกอบด้วย

๑. เครื่องครองของพระภิกษุสามเณรที่ฮดสรง มีอัฐบริขาร ๘ ได้แก่ ผ้าจีวร ๑ ผืน ผ้าสังฆาฏิ ๑ ผืน ผ้าสบง ๑ ผืน รัดประคด ๑ สาย มีดโกน ๑ เล่ม กล่องเข็ม ๑ กล่อง ธรรมกรก ๑ อัน และมีดตัดเล็บ ๑ เล่ม นอกนี้มีผ้าห่มสีเหลืองหรือสีแดง ๑ ผืน รองเท้าคีบ ๑ คู่ ไม้เท้าเหล็ก ๑ อัน หมวก (หว่อม) ทำด้วยผ้าสีแดงปักด้วยไหมทอง สำหรับสวมทำเป็นเกศ ๑ ใบ และเม็ง (เตียง)

๒. ตาลปัตรรูปใบโพธิ์ ปกติใช้ปักด้วยเส้นไหม

๓. หลาบเงินหรือหลาบทอง

เหตุที่ให้ชื่อว่า บริขารเครื่องยศ เพราะจัดหามอบถวายให้ในขณะที่ได้รับสถาปนาแต่งตั้ง คือ ได้รับยศแต่งตั้งหลาบเงิน คำว่า หลาบ เป็นศัพท์เก่าแก่ของชาวอีสาน หมายถึง ทรวงทรง สัณฐาน ความสวยงาม เช่น "คนนี้ได้หลาบได้ลายดี หรือมีหลาบหลาย" หมายถึง เป็นคนที่มีทรวงทรงเหมาะสม สวยงาม หลาบเงิน คือ หลาบที่ทำด้วยเงิน ตีเป็นแผ่น ซึ่งมีลักษณะ ดังนี้

๑. หลาบชั้นสำเร็จ กว้าง ๑ นิ้ว เป็นแผ่นเงิน หนาประมาณครึ่งเซนติเมตร หรือ ๑ เซนติเมตร ยาว วัดจากคางถึงลูกตาหรือวัดจากหางคิ้วซ้ายผ่านหน้าผากจนถึงหางคิ้วขวาใช้หลาบเดียวฮดครั้งเดียว

๒. หลาบเงินขั้นชาหรือซา กว้าง ๑ นิ้ว เป็นแผ่นเงิน หนาประมาณครึ่งเซนติเมตรหรือ 1 เซนติเมตร ยาวจากหูซ้ายถึงหูขวา ตำแหน่งซา ฮดถึง ๓ ครั้งเรียกว่า ซา ๑ หลาบ ซา ๒ หลาบและ ๓ หลาบ

๓. หลาบเงินชั้นคู กว้าง ๑ นิ้ว หนาประมาณครึ่งเซนติเมตรหรือ ๑ เซนติเมตร เป็นแผ่นเงิน ยาววัดจากง่อนหรือท้ายทอย ทางด้านซ้ายถึงด้านขวา หรือวัดรอบศรีษะ ตำแหน่งคู ฮดถึง ๓ ครั้ง เรียกว่า คู ๑ หลาบ คู ๒ หลาบ คู ๓ หลาบ ขนาดความยาวของหลาบเงินนั้น ส่วนมากจำได้กันทั่วไปว่า เพราะมีคำพูดว่า "สำเร็จเพียงตา ซาเพียงหู คูเพียงง่อน" ฮดครั้งใดจะได้รับหลาบเงินทุกครั้ง ถึงขั้นสูงสุดจึงได้หลาบเงินถึง ๗ หลาบ หลาบนี้ถือว่าเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ได้รับการฮดสรง ดังนั้น หากสึกจากพระภิกษุสามเณรแล้ว นำเอาหลาบติดตัวไปได้ข้อความจารึกในหลาบ เมื่อตีหลาบแล้ว นำหลาบใส่พาน ทำการจารึกเป็นอักษรขอม ข้อความที่จารึกมักไม่เหมือนกันทั่วไป แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ตัวอย่างข้อความจารึกในหลาบมีดังนี้

"โส อตฺถลทฺโธ สุขิโต วิรุฬฺโห พุทฺธสาสเน อโรโค สุขิโต โหหิ สหสพฺเพหิ ญาติภิ จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ"


เครื่องประกอบการฮดสรง

๑. ฮางฮด (รางรดน้ำสรง) ทำรางด้วยไม้เป็นรูปพญานาค ซึ่งทำเป็นลวดลายลงรักปิดทองอย่างสวยงาม ตรงคอนาคเจาะเป็นรูกลมสำหรับให้น้ำไหลลงที่ห้องฮางฮดเอาเหล็กกลมๆทำเป็นราวสำหรับติดเทียนบูชา๑ ราว บน หลังพญานาคบริเวณคอจะตั้งพระพุทธรูปไว้ บริเวณรอบคอพญานาคจะผูกด้วยผ้าขาวข้างในห่อด้วยเครื่องทองคำ เครื่องเงิน เครื่องนาก เขี้ยว งาช้าง พระเครื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อให้น้ำที่ฮดสรงไหลผ่านสิ่งศักดิ์สิทธิ์และรดลงมายังพระภิกษุผู้รับได้ รับถวายการฮดสรงและที่สำคัญพระเถระบางรูปเป็นผู้ทรงพุทธวิทยาคมขั้นสูง น้ำที่สรงจะมีชาวบ้านน้ำไปพรมที่ศรีษะล้างหน้าล้างตาเพื่อความเป็นสิริมงคล ต่อตนเอง

๒. เทียนกึ่งหรือเทียนง่า คือ เทียนที่นำมาประกอบติดกันเหมือนกิ่งไม้ ๓ คู่ และเทียนกาบ ๓ คู่ สำหรับจุดบูชาที่ราวเทียนในฮางฮดสรง

๓. เทียนเล่มบาท ๑ คู่ เทียนหนักเล่มละ ๑ บาท ๒ เล่ม สำหรับเป็นเทียนบูชา

๔. เทียนเล่มเบี้ย ๑ คู่ หนักเล่มละ ๒ บาท ใช้มะพร้าวอ่อน ๒ ลูก เจียนหัวท้ายให้สวยงาม ปักเทียนไว้บนหัวมะพร้าว

๕. ขันหมากเบ็ง ๑ คู่

๖. เทียนเล็ก ๑ คู่ พร้อมดอกไม้สำหรับให้ผู้รับการฮดสรงถือบูชา ขณะฟังผู้เฒ่าอ่านประกาศ

๗. หินก้อนโต ๑ ก้อน สำหรับให้ผู้รับการฮดสรงเหยียบในขณะฮดสรง ใต้ก้อนหินมีใบคูณใบยอหญ้าแพรกและใบตองรองไว้

๘. โอ่ง สำหรับใส่น้ำหอมพร้อมน้ำอบน้ำหอม (น้ำอบน้ำหอม ปรกติผู้ไปร่วมพิธีต่างจัดทำไปเอง)

๙. บายศรี ๑ คู่ พร้อมเทียนอาดหรือเทียนชัย ปักบายศรีข้างละ ๑ เล่ม

นอกนี้มีอุปกรณ์อื่น ๆ ตามความจำเป็น


ขั้นตอนในพิธีฮดสรง

๑. ตั้งกองฮดสรง นำบริขารเครื่องยศที่กล่าวข้างต้น ได้แก่ อัฐบริขาร ตาลปัตรหลาบเงินหรือหลาบทองพร้อมเครื่องประกอบการฮดสรงบางอย่าง ได้แก่ เทียนกิ่งหรือเทียนง่าเทียนกาบ เทียนเล่มบาท เทียนเล่มเบี้ยขันหมากเบ็งและบายศรี เป็นต้น นำมาจัดบนศาลาโรงธรรมโดยจัดตั้งเป็นชุหรือกองตกแต่งให้สวยงาม เรียกว่า กองฮด
๒. แห่สมโภชมุงคุล ในวันรวมหรือวันโฮม เวลาประมาณบ่าย ๓ โมง ปรกติจะมีการแห่เครื่องยศและเครื่องประกอบการฮดสรงที่ตั้งไว้กองฮดมีหม้อน้ำอบน้ำหอมเข้าขบวนแห่ด้วย จัดขบวนยานหามพร้อมด้วยฆ้อง กลอง พิณพาทย์ มโหรี การจัดขบวนมีจัดยานหามเทียบข้างศาลาโรงธรรม นิมนต์พระสังฆเถระสวมเถราภิเษกมงคล (หมวกหรือหว่อม) ให้ที่ศีรษะผู้รับโอสรง มอบตาลปัตรให้ด้วยแล้วจึงหามพระสังฆเถระออกหน้าพร้อมผู้รับการฮดสรง อุ้มผ้าไตรและถืออุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้นแห่ไปในขบวนจะมีพลุ ตะไลจุดก็ได้ แห่รอบวัดหรือศาลาโรงธรรมแล้วแต่สะดวก ๓ รอบ เสร็จพิธีแห่จึงอาราธนาพระภิกษุสามเณรขึ้นบนศาลาโรงธรรม พร้อมนำอุปกรณ์ฮดสรงไปประดิษฐานตามเดิม จึงทำพิธีสมโภชมุงคุล ดังนี้

๑. จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ตั้งบาตรน้ำมนต์ไหว้พระรับศีล เสร็จแล้วอาราธนาปริตตมงคล

๒. พระสงฆ์สวดป่าวสัคเค สวดมุงคุลน้อย มุงคุลหลวง ไชยน้อย ไชยใหญ่ และนิมนต์พระภิกษุสามเณรผู้รับฮดสรง นั่งฟังเจริญพระพุทธมนต์จนจบ

๓. กลางคืนจะมีมหรสพสมโภชก็ได้ แล้วแต่จะเห็นสมควร

๔. วันรุ่งขึ้น ถวายอาหารบิณฑบาตเช้า และมีฟังเทศนาอานิสงส์


การจัดสถานที่เถราภิเษกฮดสรง

๑. ตั้งฮางฮด (รางรดน้ำสรง) ห่างจากศาลาโรงธรรมประมาณ ๑๐ วา เป็นอย่างน้อย ปลูกต้นกล้วยต้นอ้อยสองข้างทาง ใช้ผ้าขาวคาดเป็นเพดานจากโรงธรรมถึงฮางฮด หันหัวนาคฮางฮดไปทางทิศเหนือ หางนาคไปทางทิศใต้ ทำห้องสรงไว้ทางหัวนาค ปลูกต้นกล้วยต้นอ้อยไว้รอบห้องสรงให้เหลือทางเข้าไว้ กั้นห้องสรงให้มิดชิด และให้หัวนาคอยู่ตรงบนห้องสรง หางนาคให้อยู่นอกห้องสรงปลูกศาลเพียงตาขึ้นที่สองข้างฮางฮด สำหรับตั้งบายศรีซ้ายขวา นำก้อนศิลามงคลไปวางไว้ใต้ฮางฮด ตรงคอพญานาค โดยมีใบคูณใบยอ หญ้าแพรกและใบตองรองพื้น เอาผ้าผืนบาง ๆ ห่อพันกล่องหลาบ รองลงที่คอพญานาค ติดเทียนกิ่งหรือเทียนง่าและเทียนกาบตรงราวเหล็กที่ฮางฮด

๒. ตั้งโอ่งน้ำอบน้ำหอมไว้ใกล้บริเวณห้องสรง จัดใบคูณใบยอไว้อย่างละ ๗ ใบ วางไว้ตรงรางน้ำสรงไหลลง ใช้ผ้าขาวห่อรางน้ำเพื่อกรอง และใช้ใบโพธิ์ ๗ ใบ ใส่ห่อผ้าขาวหรือจะใส่เครื่องรางของขลังด้วยก็ได้ถือว่าศักดิ์สิทธิ์นัก

๓. สมมติตาผ้าขาวเป็นพราหมณ์ ๔ คน นุ่งขาวห่มขาว ถือไม้กระบองและไม้แบ ยาวประมาณ ๑ วา ยืนรักษาทิศทั้งสี่ อยู่ในบริเวณห้องสรง

พิธีสถาปนา เมื่อได้เวลาศุภฤกษ์มงคลดิถี พระสงฆเถระผู้เป็นประธานในสงฆ์จัดพิธีสถาปนา ดังนี้

๑. มอบตาลปัตร ไม้เท้าเหล็ก สวมกระโจมมงคล (หมวกหรือหว่อม) จับไม้เท้าเหล็กต่อๆ กันไป เดินจากโรงพิธีสู่ห้องสรง ระหว่างนี้ญาติโยมจะเข้าไปเกาะชายจีวรผู้รับการฮดสรงคล้ายจูงนาคเข้าโบสถ์ก็ได้

๒. ผู้ชายพร้อมกันนอนคว่ำ เรียงกันไปถึงห้องสรง เพื่อให้พระเถระและผู้รับการฮดสรงเหยียบบั้นเอว ถือว่าศักดิ์สิทธิ์หายเจ็บหลังปวดเอวดีนัก
๓. ถึงห้องสรงแล้ว พระสังฆเถระพร้อมพระพิธีหรือผู้เฒ่าจุดเทียนกิ่งหรือเทียนง่า และเทียนกาบบนฮางฮด แล้วพระพิธีกลับโรงพิธีเหลือพระสังฆเถระในห้องฮด

๔. พระสังฆเถระถอดกระโจมมงคล (หมวกหรือหว่อม) ออกเอามือจับบ่าซ้ายขวาหมุนไปขวา ๓ รอบ เป็นประทักษิณ จึงนิมนต์นั่งบนตั่งพิธี ฝ่าเท้าเหยียบบนหินมงคล ประนมมือ กระทำจิตระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย

๕. พุทธศาสนิกชนนั่งถือไตรจีวรพร้อมตั้งนโม ฯลฯ ๓ จบ กล่าวถวายไตรจีวรว่า อิมานิ มยํ ภนฺเต ติจีวรานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสีลวนฺตสฺส นิยฺยาเทม สาธุ โน ภนฺเต อิมานิ ติจีวรานิ ภิกฺขุสีลวนฺโต ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ ฑีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย ภิกษุสามเณรผู้รับการฮดสรงรับสาธุพร้อมกัน ญาติโยมถวายผ้าไตรจีวร ภิกษุสามเณร ผู้รับนั้นทำกับปะพินทุ แล้วมอบให้โยมถือไว้ก่อน

๖. ญาติโยมนำว่าคำถวายน้ำหอม ดังนี้

อิมานิ มยํ ภนฺเต คนฺโธทกานิ เถราภิเสกตฺถาย ภิกฺขุสีลวนฺตสฺส นิยฺยาเทม ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต ฯลฯ ตติยมฺปิ ภนฺเต ฯลฯ อมฺหากํ ฑีฆรตฺตํ สํวตฺตนฺตุ สาธุ สาธุ สาธุ

จึงนำน้ำหอมถวายพระสังฆเถระ จัดมูรธาภิเษาด้วยน้ำหอม นิมนต์พระสงฆ์ผู้ร่วมพิธีทุกรูป สวดไชย์น้อย ไชยใหญ่ (ทุกวันนี้สวดชยันโต) ขณะนั้นย่ำฆ้อง กลอง เสพพิณพาทย์ มโหรี จุดพลุ ตะไล และระหว่างนั้นญาติโยมชายหญิงทั้งหมดที่ไปร่วมพิธี หลั่งน้ำหอมฮดสรงลงที่ฮางฮดน้ำหอมก็จะไหลลงถูกพระภิกษุสามเณรที่นั่งอยู่ตรงรูฮางฮดนั้น เสร็จแล้วผู้รับฮดสรงยืนขึ้น ทายกนำไตรจีวรให้ครอง ครองเสร็จให้ยืนเรียงแถวประนมมือตั้ง นโม ๓ จบ แล้วว่าคาถา "สีหนาทํ นทนฺเต เต ปริสาสุ วิสารทา" จบ กำกำปั้นตีฆ้องชัย "โม่ง" ทุกคนในที่นั้นส่งเสียงว่าสำเร็จ, ซา, คู ให้ว่าดัง ๆ ผู้รับฮดสรงว่า สีหนาทํ ฯ ไปอีก ผู้อยู่นั้นส่งเสียงเช่นเดิมอีกถึง ๓ ครั้ง แล้วให้รูปต่อไปว่าอย่างเดียวกัน คือรูปใดได้ฮดสรงเป็นสำเร็จ ก็ให้พร้อมกันว่า สำเร็จ ๓ ครั้ง ถ้ารูปใดได้ฮดเป็น ซา ก็ ว่าซา พร้อมกัน ๓ ครั้ง รูปใดที่ได้ฮดเป็นคูก็ให้ว่าคู พร้อมกัน ๓ ครั้ง ทำเช่นเดียวกัน

๗. พระสังฆเถระมอบตาลปัตร ไม้เท้าเหล็ก จูงทุกรูปที่ได้รับการฮดสรงขึ้นบนศาลาโรงธรรมโดยญาติโยมผู้ชายนอนคว่ำ อีกให้ไต่เหมือนกับตอนที่จะไปรับการฮดสรง พระภิกษุสามเณรผู้รับการฮดสรงขึ้นไปนั่งบนอาสนะ ณ ศาลาโรงธรรม

๘. ญาติโยมพร้อมกันขึ้นบนศาลาโรงธรรม จุดธูปเทียนไหว้พระรับศีล โดยพระภิกษุสามเณรได้รับฮดสรงนั้นพร้อมกันตั้งตาลปัตรให้ศีลพร้อมกัน

๙. ผู้เฒ่าจุดเทียนเล็กคู่หนี่งพร้อมดอกไม้ถวายผู้ได้รับการฮดสรงถือไว้ประธานฝ่ายฆราวาสอ่านประกาศในใบลาน อ่านประกาศของรูปใดจบ ให้ตีฆ้อง ๓ ครั้ง เสร็จแล้ว มอบถวายกล่องหลาบ พระสงฆ์สวดชยันโตไปจนเสร็จพิธีมอบถวายกล่องหลาบ

ตั้งขันบายศรี เมื่อมอบถวายหลาบยศแล้ว พราหมณ์ ๔ คน ซึ่งนุ่งขาวห่มขาว ยืนรักษาพิธีเถราภิเษกฮดสรงนั้น เอาบายศรีมาตั้งลงข้างซ้ายขวาผู้รับการฮดสรง หรือถ้ามีหลายรูปก็นิมนต์ให้ผู้รับการฮดสรงนั่งล้อมขันบายศรี ผู้เฒ่าจัดการจุดเทียนอาดหรือเทียนชัย ที่ปักอยู่บนบายศรีซ้ายขวา ผู้รับหน้าที่เป็นพราหมณ์ทำพิธีเบิกบายศรี มงคล ปาวเทวดา ดังนี้

"อายันตุ โภนโต ดูราเทพดาเจ้าถ้วนทุกหมู่ ที่สถิตอยู่ในท้องจักรวาล เนาในสถานทุกเพศ น่านน้ำเขตไพรพนอม ทั่วทั้งจอมดอยดอนดงห้วยหาด ทั่วทั้งอากาศเวหน ภายค่วงบนฝูงมวลแมนทุกส่ำ ถ้วนหน้าส่ำอินทร์พรหมทั้งพระยมตนองอาจทั้งท้าวราชจตุโลกบาล ผู้บริบาลทวยโลก ให้หายโศกอยู่สวัสดี ทั้งนางธรณี อิสูรครุฑนาค ทุกภาคน้ำนางน้อยเมขลา ทั้งมเหศักดามวลหมู่ ขอเชิญมาสู่เขตตั้งพิธีอันฝูงข้าดาดีตกแต่งไว้ ขอเชิญเทพไท้สรวงสวรรค์ จงเสด็จเฮ็วพลันห่อนให้ช้า ฮิ่บอ่วยหน้าเสด็จด่วนลงมา เที่ยวเทอญ"


สูตรขวัญบายศรี ตั้งนโม ๓ จบ แล้วว่าคำสูตรขวัญบายศรี ดังนี้

" ศรี ศรี สิทธิพระพร บวรดิเรก อเนกเตโช ชัยมงคลมหาสิริมังคเลส ศาตเพทพร้อมอาคม ขุนบรมปุนแปงไว้ ให้ลูกแก้วออกกินเมือง ฤทธิเฮืองทะรงแท่น มื่อนี้แม่นมื้อมหาคุณ ขุนแคนดาแต่งแล้ว ให้ลูกแก้วกิ่งลงมา เป็นราชาครองสืบสร้าง เมืองมิ่งกว้างนาคอง วันนี้ปองเป็นโชคไตรโลกย่อมลือชา ทะรงอิทธานุภาพยิ่งเจ้าจอมมิ่งเมืองแมน ทะรงแท่นแถนถัดล้ำ มื้อนี้ซ้ำคุณคง พระยาจัดทะรงทศราช พรหมนาถเล่าแถมพรพระอิศวรหลอนแถมโชค พระนารายณ์โยคสิทธิชัย ท้าวสหัสนัย์ประสาทฝนห่าแก้ว ใจผ่องแผ้วบริสุทธิ์ อุตตมะโชค อุตตมะโยค อุตตมะดีถี อัตตมะนาที อุตตมะศรีพิลาส อินทะพาดพร้อมไตรยางค์ ทั่วนาวางค์คาดคู่ พร้อมกันอยู่สอนลอน อาทิตย์จรจันทะฤกษ์ อังคารถือมหาชัย พุธพฤหัสไปเป็นโชค ศุกร์เสาร์โยคเดชมงคล อันเป็นผลหลายประโยค อุตตมะโชคแท้ดีหลี มเหสักขีหลิงหล่ำโลก ให้หายทุกโศกนานา พระอภัยราชาขึ้นทะรงแท่น หายโพยแม่นวันดีกัณหาชาลีเมืองฮอดเมืองบู่ สถิตอยู่เย็นใจ ท้ายพญาศรีสญไชย์ภูวนา นิมนต์ราชปุตตา ให้เป็นพระราชาคืนดังเก่าเป็นเล่าสองทีก็เป็นมื้อนี้วันนี้ วันนี้เป็นดิถีทั้งห้า เจ้าฟ้าเล่าแถมคุณ พราหมณปุนปองราชพรแก้วอาจสิบประการวรสารตัวองอาจ ชี้สู่ราชเล็งโญ วันนี้ โพธิญาณตนหน่อฟ้า มีเดชกล้าสวยเมือง พระบุญเฮืองครองเมืองตุ้มไพร่ทศราชไต่ตามธรรม จำนำสัตว์ให้พ้น วันนี้ดีลื่นล้นเหลือประมาณ หนุมานใจผ่องแผ้ว นีรมิตผาสาทแก้วก่อแปงเมือง นาคองเฮืองทศราช เชียงเครืออาจขุนเม็ง เงินยวงเซ้งเนาคับคั่งสะพรั่งพร้อมฝูงหมู่เสนาเดาดามาเป็นบริวารแวดล้อม มาอยู่อ้อมทุกหมู่โยธา ทั้งนาคานาดีครุฑนาค ทุกภาคพร้อมธรณี เมขลาศรีสาวถ่าวเชื้อท่านท้าวปรเมศวร บรบวนฤทธีกล้า เอาแผ่นผ้าขี่ตางยาน กุมภัณฑ์ดาลยมราช จตุโลกอาจองค์หลวงทั้งค่วงบนบุรมเจ้าฟ้าเดชะกล้ากว่าสิ่งทั้งหลาย จึงยายยังพระพรและควงจุ้มให้ลงมาคุ้มฝูงคน ให้หายกังวลและเดือดฮ้อน โพยพยาธิ์ค่อนพ่ายหนีไปทั้งภายในและภายนอก แดดด้าวขอกคีรี พระฤษีสิทธิเดช จบเทพพร้อมอาคมนิยมประสิทธิ์ประสาทพรแก้วอาจดวงดี มื้อนี้แม่มื้อสวรรค์ วันนี้แม่นวันชอบ ทั้งประกอบด้วยฤกษ์งามยามดี เป็นศรีสิทธิชัยมังคลาดิเรกอเนกสวัสดี แท้ดีหลีแลนาย บัดนี้ ฝูงข้าน้อย ใจชื่อช้อยินสะออน ขอโอมอ่านอวยพรแก่……………..ผู้ทรงคุณค่ามากข้าน้อยหากขอวอน คุณอนุสรณ์สามสิ่ง คือ รัตนตรัยแก้วกิ่งดวงดี กับทั้งคุณประเสริฐศรีทุกแห่ง จบแหล่งหล้าสรวงสวรรค์มาเสกสรรเป็นพระพร คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ อโรคยะปฏิภาณะ อธิปติ คุณสารสมบัติทุกเยื่อง ขอให้เดชานุภาพกระเดื่องทั่วธรณี ดังแสงสุรีย์สว่างโลก หายทุกข์โศกสวัสดี เชยยตุ ภวํ เชยย มงคลํ จงให้เป็นชัยมงคลอันแวนยิ่งถ้วนทุกสิ่งสมบูรณ์ นั้นเทอญ (ตีฆ้อง ๓ ที โห่ร้องเอาชัย)

ข. เฮียกขวัญผูกแขน เมื่อพราหมณ์กล่าวคำสูตรขวัญเสด็จ จะมีพิธีเฮียก (เรียก) ขวัญผูกแขนสำหรับเฮียกขวัญผูกแขนนั้น มีปรากฎอยู่

พิธีเฮียกขวัญผูกแขน พระสงฆ์ตั้งตาลปัตรสวดชยันโต ๓ จบ พร้อมกับผูกแขนร่วมด้วยพราหมณ์และญาติโยม เสด็จพิธีแล้ว นิมนต์พระภิกษุสามเณรผู้ได้รับการฮดสรง เข้านั่งอาสนะบนอาสน์สงฆ์ ญาติโยมประเคนบริขารเครื่องยศเฉพาะส่วนที่ยังมิได้ประเคน กองของรูปใดก็ประเคนรูปนั้น จากนี้ญาติโยมอาจจะถวายปัจจัยไทยทานแต่พระภิกษุสามเณรซึ่งมาร่วมพิธีเป็นพิเศษอีกก็แล้วแต่จะเห็นสมควรเมื่อประเคนแล้ว

พระภิกษุสามเณรผู้ได้รับเถราภิเษกและผู้ร่วมพิธีตั้งตาลปัตร อนุโมทนา ยถาสพพี จบว่า สพฺพพุทฺธานุภาเวนะ จนจบ ต่อภวตุ สพฺพมงคลํ ฯ จบ แล้วเป็นเสร็จพิธี