บุญกฐิน(บุญเดือนสิบสอง)

การทำบุญกฐิน เป็นการถวายผ้าแต่สงฆ์ซึ่งจำพรรษาแล้ว ชาวอีสานทำบุญกฐินตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองเช่นเดียวกับทางภาคกลางการทอดกฐินมีมาแต่โบราณกาล เพราะมีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุแสวงหาผ้า และรับกฐินได้ตามกำหนดเวลาดังกล่าวบุญกฐินทางภาคอีสานมีวิธีการกับการทอด กฐินในภาคกลางแทบทุกประการ คือ มีกฐินราษฏร์ ได้แก่ กฐินที่ประชาชนร่วมกันจัดให้มีขึ้น และกฐินหลวง ได้แก่ กฐินที่ทางราชการจัดขึ้น แม้จะเป็นกฐินที่ข้าราชการในระดับจังหวัดหรือระดับอำเภอร่วมกันจัดขึ้น ชาวบ้านมักเรียกว่า กฐินหลวงเช่น กัน นอกนี้ จุลกฐินซึ่งสาวอีสานเรียกว่า กฐินแล่น มูลเหตุที่มีการทำบุญกฐิน มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุชาวเมืองปาฐาจำนวน ๓๐ รูป พากันเดินทางจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งเสด็จประทับอยู่ที่ พระเชตวันมหาวิหาร แต่เนื่องจากการเดินทางเป็นวันที่จวนใกล้กำหนดเข้าพรรษาทั้งหนทางระยะไกลและ ลำบาก พระภิกษุเหล่านั้นจึงไม่สามารถไปให้ถึงพระเชตวันมหาวิหารได้ ก็พอดีกำหนดเข้าพรรษาเสียก่อน พระภิกษุทั้ง ๓๐ รูป จึงต้องหยุดจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตออกพรรษาแล้วจึงพากันรีบไปเฝ้าพระ พุทธเจ้าแต่โดยเหตุที่หนทางไกลดังกล่าว และพอดีฝนตกจึงทำให้ผ้าจีวรของพระภิกษุเหล่านั้นเปียกน้ำและเปื้อนโคลนตมมาก พอไปถึงพระเชตวันมหาวิหาร ก็พากันตรงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที พระพุทธเจ้าทรงเห็นพระภิกษุที่มาเฝ้านุ่งห่มจีวรเปื้อนเปรอะ และจีวรที่จะใช้ผลัดเปลี่ยนก็ไม่มี เมื่อพระองค์ทรงเห็นความลำบากของพระภิกษุเช่นนั้น จึงมีพุทธบัญญัติให้พระภิกษุแสวงหาผ้าและรับผ้ากฐินได้มีกำหนด๑ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ถึงวันเพ็ญ เดือนสิบสองดังกล่าวข้างต้น จึงมีประเพณีทอดกฐินกันต่อ ๆ มา

วิธีดำเนินการ ก่อนถึงวันทอดกฐิน ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาจะทอดกฐิน จะไปเลือกหาวัดที่จะทอดเมื่อหาได้แล้วก็ไปจองไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ทางวัดรู้ตัว และมีเวลาเตรียมรับรองในวันทอด ทั้งจะไม่เป็นการทอดกฐินซ้ำกันในวัดนั้นด้วย วัดที่จองส่วนมากเป็นวัดที่อยู่ในหมู่บ้านอื่นแต่บางทีก็เป็นวัดที่ตั้งอยู่ ในหมู่บ้านที่ชาวบ้านจะทำบุญก็มีเมื่อถึงวันทอดกฐินชาวบ้านหรือผู้จะทำบุญ กฐิน ตระเตรียมองค์กฐิน ที่จำเป็นต้องมีก็ได้แก่ผ้าไตรจีวรหรือผ้าสามผืน คือ สบง จีวร และสังฆาฏิ หรืออัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ ผ้าจีวร ผ้าสังฆาฏิผ้าสบง สายรัดประคด มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ บาตร เข็มเย็บผ้า และธมกรก (เครื่องใช้กรองน้ำให้สะอาด) นอกนี้อาจมีบริขารอื่น ๆและเครื่องไทยทานสำหรับถวายพระ ส่วนมากมีการบอกบุญให้ญาติมิตรและผู้รู้จักคุ้นเคยให้มาร่วมทำบุญด้วยก่อนจะ นำองค์กฐินไปทอดมักมีการคบงันด้วยมหรสพต่าง ๆ แล้วแต่เจ้าภาพจะจัด พอวันรุ่งขึ้นก็เคลื่อนกระบวนออกเดินทางไปสู่วัดที่จะทอด กะเวลาให้ถึงวัดทันเลี้ยงเพลพระ ก่อนเลี้ยงเพลพระหรือเสร็จเลี้ยงเพลพระแล้วจะได้ทอดกฐิน ถ้าเป็นวัดอยู่ระยะทางไกล ก็ต้องเคลื่อนกระบวนเดินทางไปแต่เช้ามืดเพื่อให้ทันเวลา บางแห่งต้องเดินทางไปล่วงหน้าโดยนอนค้างคืนที่หมู่บ้าน หรือวัดที่จะทอดกฐินหนึ่งคืนขณะที่จะทำการทอดมักมีการแห่แหนกันคึกคืนสนุก สนานถ้าเป็นทางบกก็ไปโดยเดินเท้า รถยนต์ และล้อเกวียน เป็นต้น กระบวนแห่จะมีกลอง ฆ้อง และเครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น แคน แตรวง ฯลฯ และมีการร้องรำทำเพลงไปด้วย ขณะองค์กฐินผ่านไป ชาวบ้านจะมาคอยต้อนรับและนำปัจจัยมาร่วมบริจาคทาน บางทีก็ร่วมกระบวนแห่ไปด้วย เมื่อถึงวัดหากมีเวลาอาจทอดกฐินทันทีหรือไม่ก็จะเลี้ยงเพลพรเณรและเลี้ยง บรรดาผู้มาแห่ แล้วจึงอดกฐิน โดยชาวบ้านเจ้าของวัดเป็นเจ้าภาพ ได้เวลาทอดกฐินพระสงฆ์ลงโบสถ์ ผู้ไปร่วมงานบุญชุมนุมกันแล้วจัดขบวนแห่ มีคนเดินตามกันเป็นแถวยาวยืดเสียงแห่ครื้นไปทั่วบริเวณวัดทำประทักษิณเวียน รอบโบสถ์สามรอบ แล้วจึงเข้าโบสถ์ทำพิธีถวายผ้ากฐินและบริขารเป็นเสร็จพิธี

สำหรับการทอดกฐินที่เจ้าภาพอยู่ห่างไกล ซึ่งจำเป็นต้องมาพัก ณ หมู่บ้านหรือวัดที่จะทอดกฐิน หรือเจ้าภาพที่จะทอดกฐินอยู่ในหมู่บ้านนั้นเอง กำหนดการทอดกฐินดังกล่าวบางทีร่นมาตอนเช้า คือ เมื่อถวายอาหารบิณฑบาตตอนเช้าเสร็จ ก็จะทำพิธีแห่และนำกฐินไปถวายเลยก็ได้ที่กล่าวมานี้ เป็นการทอดกฐินโดยทั่วไป ส่วนจุลกฐินหรือกฐินแล่นนั้น นอกจากมีการจัดบริขารต่าง ๆ และทำพิธีทอดดังกล่าวแล้ว การทำผ้าไตรจีวรเพื่อเป็นกฐิน จะต้องเริ่มแต่การนำปุยฝ้ายมาหีบ มาปั่น มากรอเป็นเส้นด้าย แล้วทอเป็นผืนผ้าและตัดเย็บตลอดการย้อมสีเป็นไตรจีวรให้เสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง คือ ให้ทันใช้เป็นผ้ากฐินได้ในวันรุ่งขึ้นกฐินแล่นนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันนักเนื่อง จากเป็นการลำบากมากเจ้าภาพจะต้องมีฐานะดีพอสมควร มีญาติพี่น้องคอยให้ความร่วมมือและมีอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อม เพราะต้องใช้จ่ายเงินเป็นค่าเลี้ยงดูต้องหาเครื่องมือหลายอย่าง ต้องมีญาติพี่น้องคอยให้ความร่วมมือ และมีอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อม เพราะจะต้องใช้จ่ายเงินเป็นค่าเลี้ยงดูต้องหาเครื่องมือหลายอย่าง และต้องมีญาติพี่น้องมาช่วยกันหลายคน จึงจะทำได้จุลกฐินหรือกฐินแล่น มักทำกันเมื่อจวนหมดเขตบุญกฐิน และถือว่าการทอดกฐินอย่างนี้ได้อานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินธรรมดาเป็นสิบเท่า

การทอดกฐินของชาวภาคอีสาน สิ่งที่เห็นแปลกไปกว่าภาคกลาง คือ การแปลงทางกฐิน ได้แก่การปรับตกแต่งถนนหนทางที่ขบวนกฐินจะผ่านไปให้สะอาดเรียบร้อยสวยงาม เพื่อให้ขบวนแห่กฐินเดินทางไปด้วยความสะดวก ชาวบ้านเมื่อรู้ว่าจะมีกฐินมาทอดหมู่บ้านของตนก็จะพากันไปช่วยกันถากถางหน ทางที่องค์กฐินจะผ่านแม้ทางระหว่างหมู่บ้านหนึ่งกับอีกหมู่บ้านหนึ่งก็พากันไปถางตามหนทางและพยายามซ่อมแซมถนน หนทางให้เรียบร้อยเพราะถือว่าการทำทางกฐินผ่านนี้ได้กุศลแรงมาก ชาวบ้านจึงนิยมสละแรงงาน และทรัพย์ช่วยกันจัดทำ โดยเหตุนี้เมื่อหมู่บ้านใดทางไปมายังไม่ค่อยสะดวก ผู้มีจิตศรัทธาบางท่าน จึงมักนำกฐินไปทอดเพื่อให้ได้กุศลสองอย่าง คือ ได้ทั้งบุญในการทอดกฐินและได้กุศลในการทำให้ทางไปมาสะดวกด้วย เมื่อเตรียมทางเสร็จในวันขบวนกฐินผ่าน ชาวบ้านจะปลูกต้นกล้วย ต้นอ้อยและไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ ตามสองข้างทางในละแวกหมู่บ้านติดต่อกันไปจนถึงเขตทางเข้าวัด และชาวบ้านบางแห่งจะเอาผ้าปูบนเส้นทางที่ขบวนกฐินจะผ่านไปด้วยที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า บุญกฐินเป็นงานบุญสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากเป็นการถวายจีวรและบริขารต่าง ๆแด่พระภิกษุสงฆ์แล้ว ยังจะได้ปัจจัยบูรณะบำรุงวัดและได้ประโยชน์อย่างอื่น รวมทั้งเป็นการก่อให้เกิดความสามัคคีธรรมในหมู่ประชาชนให้เกิดขึ้นด้วย จึงควรสนับสนุนให้คงมีอยู่ตลอดไป.

คำถวายผ้ากฐิน (แบบธรรมยุต)

อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะทุสสังปะฏิคคัณหาตุ ปะฏิคคะเหตวา จะ อิมนา ทุสเสนะ กฐินะ อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรเพื่อกฐินกับทั้งบริวารเหล่านี้อันประกอบด้วยธรรม อันได้มาโดยชอบธรรม แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงให้โอกาสรับ ผ้าจีวรเพื่อกฐินกับทั้งบริวารนี้ครั้นรับแล้ว ขอจงปราบกฐิน ด้วยผ้าจีวรนี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ