Get Adobe Flash player

วัตถุมงคลวัดโนนสว่าง

Home ประวัติ ประวัติ ลพ.เจริญ ฐานยุตฺโต

 

 

 

ประวัติ พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (หลวงพ่อเจริญ ฐานยุตฺโต)


 

นามเดิม เจริญ นามสกุล สารักษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๗ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๔ ที่บ้านหนองวัวซอ ตำบลหมากหญ้า เภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันคือตำบลหนองบัวซอ โยมปู่เป็นชาวบ้านหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ นายสงวน สารักษ์ มารดาเป็นชาวบ้านเชียงหวาง อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ชื่อนางฮวด โคตรวิท เชื้อสายทางบิดาเป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิดเกี่ยวพันเป็นลูกหลานของ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน บ้านโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๐ คนเป็นชาย ๘ คนหญิง ๒ คน หลวงพ่อเป็นคนที่ ๖

บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบุญญานุสรณ์ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี มีพระครูประสิทธิ์คณานุการ อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองวัวซอ ธรรมยุต เป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะเป็นสามเณรได้สนใจศึกษาหัดอ่านเขียนคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมอีสานกับญาท่านพุธ วัดบ้านหนองไหล อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี แล้วญาท่านพุธได้แนะนำให้ไปเรียนวิชาอยู่ยงคงกระพันกับพ่อใหญ่จารสอน ที่บ้านหนองไหล และได้แตกฉานตัวธรรมกับพ่อใหญ่ดี พูนเพิ่ม (มั่น) ผู้เฒ่าที่ปราชญ์ชาวบ้านซึ่งสามารถอ่านเขียนและจารอักษรธรรมอีสานได้ และท่านผู้นี้เป็นฆราวาสที่มีอาคมด้วย จึงได้เรียนอักษรธรรมและอาคมบ้างพอประมาณ ต่อมาจึงสามารถอ่านเขียนอักษรธรรมล้านนาและอักษรไทยน้อยได้จนแตกฉานและสามารถจารหนังสือใบลานได้ตั้งแต่บรรพชาไม่ถึง ๒ พรรษา ความที่ไม่เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านจึงนับถือภูตผีปีศาจ จึงศึกษาถึงที่มาที่ไปจนผ่านไปหลายปีจึงทราบได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงให้เลิกนับถือสิ่งเหล่านั้นและให้ถือพระรัตนตรัยแทน จึงเริ่มสนใจในวิชาพุทธาคมและเริ่มศึกษาควบคู่ไปกับการศึกษาข้อความในคัมภีร์ซึ่งต่อมาทำให้เป็นผู้มีความรอบรู้ในเรื่องพระคัมภีร์อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระสูตร เรื่องราวในทางธรรมะต่างๆ ตำรายาแผนไทยโบราณ ตำราดวงชะตา ตำราลงอักขระปลุกเสกต่างๆ ซึ่งได้ศึกษาพอประมาณ

ต่อมา จึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์สมพงษ์หรือพระธรรมสังวร วัดพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เรียนวิชาลงตะกรุดโทนและวิชารักษาคนผู้ถูกมนต์ดำทำร้ายเป็นต้น และอาศัยอยู่กับหลวงปู่โถน พระครูสถิตธรรมรัตน์ วัดเลียบ บ้านโสกแจ อำเภอกุดจับ อุดรธานี ได้เรียนวิชาลงตะกรุดหกกษัตริย์ และกบตายคารู และลงตะกรุดมหารูด และวิชาคัดเชิง และลงนะหน้าทอง และอีกหลายอย่าง ตอนเป็นสามเณรได้ไปกราบหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู เป็นต้น

เมื่ออายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดป่าสามัคคีอุปถัมภ์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย โดยมีพระครูสิริธรรมวัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุนทรนวกิจ วัดอรุณรังสี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวินัยกิตติโสภณ เป็นพระอนุสวนาจารย์ ได้ฉายาว่า ฐานยุตฺโต ในคณะธรรมยุต

เมื่ออุปสมบทแล้วได้ไปจำพรรษาอยู่กับพระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่เมตตาหลวง) วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หลวงปู่ให้เรียนเอาวิชาเมตตาหลวง ตำราเลขยันต์ คาถาลงตะกรุดโทน แคล้วคลาด ยันต์ตรีนิสิงเห และสอนให้บริกรรมธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ นะ มะ พะ ทะ หลายปีต่อมาไปช่วยงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณนานิคม ได้ไปกราบ หลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก จังหวัดสุรินทร์ และได้มีเพื่อนเป็นหลานหลวงปู่สามและได้เรียนวิชาลงตะกรุดมหารูด และพิธีจัดพุทธาพิเษก จากหลวงปู่ญาท่านบุญตา ถาวโร วัดป่าบ้านหนองไหล อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อหลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน หนองบัวลำภู มรณภาพลง ได้มางานพระราชทานเพลิงศพท่านและได้รับนิมนต์ให้อยู่ต่อ ต่อมาพระครูพุทธศาสโนวาท (ชาลี) เจ้าอาวาสวัดศรีสว่าง (ชื่อวัดในขณะนั้น) ถึงแก่มรณภาพลง จึงได้อยู่ช่วยงานศพจนแล้วเสร็จ ชาวบ้านจึงอาราธนาให้จำพรรษาที่วัดนั้น และขอให้ช่วยพัฒนาวัดด้วยเพราะเป็นวัดในอำเภอบ้านเกิด จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ต่อมาเปลี่ยนชื่อวัดศรีสว่างเป็น วัดโนนสว่าง และจำพรรษาอยู่จนปัจจุบัน ตั้งแต่มาช่วยพัฒนาอารามแห่งนี้ก็เจริญ รุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ พระครูพิพัฒน์วิทยาคมก็ได้ใช้สรรพวิชาพุทธาคมที่ได้เล่าเรียนมาตั้งแต่เป็นสามเณรช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนทั่วไปตามกำลังที่มี ส่วนการสร้างวัตถุมงคลและปลุกเสกวัตถุมงคลนั้นได้ทำตามตำหรับวิชาผึ้งพันน้ำมันหมื่น จนทำให้วัตถุมงคลเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การนำไปสักการบูชา