Get Adobe Flash player

วัตถุมงคลวัดโนนสว่าง

Home ประวัติ ประวัติพระเจ้าแสนศึกอุดรไตรโลกนาถ

 

ประวัติพระเจ้ายอดธงพระพุทธแสนศึกอุดรไตรโลกนาถ

วัดโนนสว่าง บ้านหมากหญ้า ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี


พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (เจริญ ฐานยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดโนนสว่าง เจ้าคณะตำบลหมากหญ้าธรรมยุต บ้านโนนสว่าง ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ได้ถวายพระนามพระยอดธงว่าพระพุทธแสนศึกอุดรไตรโลกนาถนามเรียกขานว่า พระเจ้ายอดธงเป็นพุทธศิลปะผสมระหว่างอยุธยากับล้านช้างร่วมสมัยเป็นพระที่ถอดพุทธพิมพ์ตามแบบพระยอดธงโบราณมีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่งฐานตั่งสองฐานซ้ายขวา ซึ่งตามธรรมดาทั่วไปจะมีเพียงฐานแกนกลางเท่านั้น มีข้อสันนิษฐานว่าพระยอดธงนั้นเป็นพระที่หล่อแล้วเหลือชนวนไว้ไม่ตัดเสีย หรืออีกนัยหนึ่งคือเหลือแกนสำหรับเสียบยอดธงนำทัพออกศึก ในปัจจุบันมีการบรรจุพระยอดธงไว้บนปลายธงประจำกองทหารต่างๆ ตามตำนานแล้วการสร้างพระยอดธงนิยมทำกันตั้งแต่ในสมัยโบราณ เช่นพระยอดธงจันทบุรี ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าเมื่อพระเจ้าตากรบชนะศึกก็โปรดให้นำโลหะต่างๆเช่นโล่ห์ หอก ดาบ เป็นต้น มาหลอมหล่อเป็น พระยอดธง พระราชทานแก่ขุนทหาร หรือพระยอดธงอยุธยาเป็นต้น ซึ่งมีประวัติเล่าขานกันมาอย่างยาวนาน วัดโนนสว่างก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่ได้สร้างพระยอดธง และ ต่อไปนี้เป็นประวัติความเป็นมาของการสร้างพระยอดธง วัดโนนสว่าง

เริ่มแรก พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (เจริญ ฐานยุตฺโต) ปรารภเรื่องไปนั่งปรกปลุกเสกในพิธีพุทธาภิเษกสมโภชพระยอดธง ที่จันทบุรี เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ จึงปรารภว่าวัดโนนสว่างน่าจะสร้างพระยอดธงเป็นของวัดเองสักรุ่นหนึ่งเพราะพุทธลักษณะขององค์พระงามสง่าน่าเกรงขามสมชื่อเรียกว่า พระยอดธง เปรียบเหมือนยอดแห่งธรรมะที่สามารถปราบมารได้ สามไตรโลก หากสร้างขึ้นภายหน้าจักเป็นที่เลื่องลือ และเป็นพระพุทธพิมพ์ที่น่าบูชายิ่งนัก จึงตกลงใจให้ทำการสร้างขึ้น ทางวัดจึงติดต่อช่างประวิน เจ้าของโรงหล่อช่างอ๋อยพุทธปฏิมาซึ่งเป็นช่างหล่อฝีมือดีที่สร้างวัตถุมงคลกับทางวัดโนนสว่าง มาหลายรุ่น โดย พ.ต.อ.ชัชวาลย์ วชิรปาณีกูล ผู้กำกับ ๒ ปกครอง โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ยศตำแหน่งในขณะนั้น เป็นผู้ช่วยประสานงานกับช่างประวิน และเป็นผู้มีช่วยดูแบบในการสร้างพระเจ้ายอดธง ส่วนขั้นตอนการถอดพิมพ์ด้วยยางซิลิโคน จนถึงขั้นตอนการหล่อแบบพระจนสมบูรณ์ ให้ คุณประยุทธ ประเทศเสนา เป็นผู้ควบคุมดูแล จนเป็นที่พอใจของพระครูพิพัฒน์วิทยาคม

เนื้อพระยอดธงทั้งหมดเป็นเนื้อชนวนสัมฤทธิ์ที่ตัดออกและเหลือจากการหล่อ พระศรีรัตนสักยมุนี (หลวงพ่อบุษราคัม) พระประธานปางมารวิชัย เนื้อสัมฤทธิ์ ในอุโบสถวัดโนนสว่างทั้งหมดที่มีและเหลือจากการนำไปสร้างวัตถุมงคลรุ่นอื่นแล้ว ทางวัดห้ามไม่ให้โรงหล่อนำชนวนอื่นมาเพิ่มเติมหรือตัดทอนโดยการนำเอาเนื้อวัสดุอื่นใดมาผสมโดยเด็ดขาดนอกจากส่วนผสมทางเทคนิคการหล่อพระอย่างอื่นที่จำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้ พ.ต.อ.ชัชวาลย์ ได้ควบคุมดูแลในส่วนของเนื้อสัมฤทธิ์ให้เป็นไปตามเจตจำนงของทางวัดโดยเคร่งครัดและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ดังนั้นในส่วนของเนื้อวัสดุสัมฤทธิ์ของหลวงพ่อ

บุษราคัม จึงเป็นที่แน่ชัดได้ว่าทั้งหมดเป็นเนื้อวัสดุสัมฤทธิ์ของทางวัดโนนสว่างทั้งสิ้น ไม่มีส่วนใดแปลกปลอมมาเพิ่มเติม เว้นเสียแต่จะเป็นส่วนผสมอื่นทางเทคนิคการหล่อพระเท่านั้น จึงเป็นแน่ใจได้ว่า พระเจ้ายอดธง เนื้อสัมฤทธิ์ ของ วัดโนนสว่างเป็นพระที่หล่อจากเนื้อสัมฤทธิ์ที่เหลือจากองค์พระประธานอันควรค่าแก่การเก็บรักษาไว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคลยิ่งนัก ไม่เพียงเท่านี้ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่น่าศึกษายิ่งว่าทำไมพระครูพิพัฒน์วิทยาคมท่านจึงพิถีพิถันและตั้งใจที่จะสร้างพระเจ้ายอดธงให้เข้มขลังนัก ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะได้นำเสนอต่อไป วันที่ ๒ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๒๐.๓๙ น. ณ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ภายในกุฏิ พระครูวินัยธรทรงศักดิ์ ชั้น ๒ พระครูพัฒน์วิทยาคมได้นั่งบนเก้าอี้แวดล้อมไปด้วยบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งมาจากกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นมากหน้าหลายตา โดยท่านได้บอกคุณประยุทธ ผู้ดูแลการสร้างพระในด้านแบบพุทธศิลป์ว่า บริเวณรอบฐานพระยอดธง ให้ลงอักขระพระคาถาซึ่งท่านได้ในนิมิตว่า มีเทวดา ชาวกุลามาถวายคาถา ซึ่งเรียกว่าคาถายอดธรรม และให้ลงพระคาถาดังต่อไปนี้ด้วย

๑. พระคาถาโบกขรพรรษ

๒. พระคาถาพระเจ้าอยู่ในดอกบัว
๓. พระคาถาลูกปืนไหลเป็นน้ำ

๔.พระคาถายอดธรรม

เมื่อวันที่ ๑๑ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๓.๑๘ น. พระครูพิพัฒน์วิทยาคม ได้ส่งพระคาถาดังต่อไปนี้มาทางแฟกซ์ให้แก่คุณประยุทธ ประเทศเสนา

๑.พระคาถายอดธรรม

๒. พระคาถาโบกขรพรรษ
๓. พระคาถาพระเจ้าอยู่ในดอกบัว

๔. พระคาถาลูกปืนไหลเป็นน้ำ

และในวันเดียวกันนี้ เวลาประมาณเที่ยงวันเดินทางไปถอดแบบพิมพ์ พระยอดธง กับช่างประวินที่บริษัทแห่งหนึ่งบริเวณปากซอยเพชรเกษม ๗๓ ใช้เวลาเกือบ ๔ ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ ในวันเดียวกัน เวลาประมาณเกือบเที่ยงคืน ช่างประวินนัดไปตรวจดูแบบพระที่ฉีดออกมาตามแบบพิมพ์ เป็นการปฏิบัติการหล่อพระครั้งแรก ออกมาเป็นที่น่า พอใจแต่พิมพ์ที่ฉีดออกมามีขนาดเล็กกว่าแบบพระนิดหน่อย ซึ่งช่างประวิน หล่อตัวอย่างเป็นเนื้อเงินแต่ยังไม่ลงอักขระคาถาใดๆ รูปร่างสัดส่วนงดงามตามแบบพุทธพิมพ์จึงถ่ายรูปจะเก็บไว้ดูแต่แปลกตรงที่ถ่ายโดยใช้กล้องดิจิตอลของ อาจารย์ชู (คุณบุญชู สีไก่แก้ว ผู้ดูแลวัดโนนสว่าง) แต่เมื่อเปิดภาพดูกลับว่างเปล่า ไม่มีภาพพระเลยเป็นอยู่อย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง (มาทราบภายหลังว่าคงมีอะไรที่ยังไม่ลงตัวในพุทธลักษณะขององค์พระ เพราะหลังจากนั้นก็มีการแก้พิมพ์พระถึง ๒ ครั้งจึงได้ผลเป็นที่น่าพอใจ) เมื่อเป็นดังนี้รู้สึกขึ้นมาได้ว่าองค์พระผอมบางและเรียวเล็กเกินไปไม่เป็นที่น่าเกรงขาม อีกทั้งบริเวณขาตั่งที่ฐานพระก็ดูเล็กแหลมไม่งดงามเท่าที่ควรจึงขอให้ช่างเพิ่มขนาดและปรับแต่งองค์พระใหม่ วันที่ ๒๐ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๔.๔๐ น. เดินทางไปตรวจแบบพระครั้งที่ ๒ ไม่เป็นที่น่าพอใจกล่าวคือพระที่ฉีดออกมาอีกเล็กจนผอมกว่าเดิมไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงไม่รับและให้ช่างแก้ไขอีก วันที่ ๒๕ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๗.๓๕ น. นัดตรวจแบบ เป็นครั้งที่ ๓ โดย หลวงพ่อพระครูพิพัฒน์วิทยาคม ได้บอกให้อธิษฐานขอพรพระยอดธงขอให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีทุกประการ เมื่อปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำแล้วนั้น แบบพระครั้งที่ ๓ ออกมาเป็นที่น่าพอใจ วันที่ ๒๘ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๕.๓๙ น. ณ วัดพระศรีมหาธาตุ หลวงพ่อพระครูพิพัฒน์วิทยาคม เดินทางมาพักจำวัดที่นี่ จึงนำแบบพระมาถวายให้ดู หลวงพ่อกล่าวปรารภขึ้นว่าด้วยคุณพระพุทธานุภาพแม้เป็นเพียงแบบพระ ยังไม่หล่อออกมาเลย ยังศักดิ์สิทธิ์มีพลังพุทธคุณเพียงนี้ อีกทั้งเป็นพระงดงามสมพุทธลักษณะ ต่อไปภายหน้าจะมีผู้คนต้องการไปบูชา ตั้งใจว่าจะหล่อพระยอดธงองค์นี้เป็นพระประธานในวิหารวัดโนนสว่าง” (ภายหลังต่อมาเงินทุนที่นำมาเริ่มก่อสร้างวิหารหลังใหม่ได้มาจากกองทุที่มีผู้มาบูชาพระเจ้ายอดธง เป็นกองทุนเริ่มแรก) หลวงพ่อพอใจมากและได้กำหนดให้วันที่ ๒๙ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙เวลามงคลฤกษ์ ๐๙.๔๙ น. เป็นวันมงคลเททองหล่อพระยอดธง ณ โรงหล่อช่างอ๋อยพุทธปฏิมา อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี

เวลาเช้าของวันที่ ๒๙ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๐๖.๐๐ น. ท่านพระครูพิพัฒน์วิทยาคม พร้อมศิษยานุศิษย์ เดินทางออกจากวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดปราจีนบุรี โดยมี พ.ต.อ.ชัชวาลย์ วชิรปาณีกูล เดินทางไปสมทบเวลาประมาณ ๐๘.๐๐ น.ในพิธีหล่อวันนั้นมีศิษยานุศิษย์ทั้งที่ติดตามมาจากอุดรธานี และติดตามมาจากกรุงเทพมหานคร เช่นคณะของ บ.กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จก.มี ผ.อ.กรวิช สกุลตังและคณะประมาณ ๔-๕ ท่าน และคณะของคุณอานนท์ และคุณวิเชียร เป็นต้น ส่วนที่มาจากอุดรธานีก็มีพี่หนู คุณพูลสวัสดิ์ ทิพย์กรรณและอาจารย์ชู เป็นต้นเวลา ๐๙.๔๙ น. อันเป็นเวลามงคลฤกษ์ที่กำหนดไว้ พระครูพิพัฒน์วิทยาคม ได้เริ่มพิธีเททองโดยได้เททองหล่อพระบูชาขนาดหน้าตัก ๑๘ นิ้ว ปางมารวิชัยเนื้อสัมฤทธิ์ จำนวน ๗ องค์ก่อน โดยพระสงฆ์ จำนวน ๙ รูป เจริญชัยมงคลคาถา ต่อจากนั้นจึงเริ่มเททองหล่อพระยอดธงเป็นลำดับไป ซึ่งในขั้นตอนการหล่อนั้นมีเรื่องที่น่าอัศจรรย์หลายอย่าง จะถ่ายทอดเรื่องราวพอสังเขปดังต่อไปนี้ เวลา ๐๙.๕๙ น. ก็ได้เริ่มเททองหล่อพระยอดธง ซึ่งในครั้งนี้  พ.ต.อ.ชัชวาลย์ ได้กราบเรียนขออนุญาตนำทองคำจำนวน ๑๐ บาท มาเพื่อหล่อพระยอดธงด้วยเป็นการส่วนตัวเพราะทางวัดจัดสร้างเฉพาะเนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อเงินเท่านั้น หลวงพ่อจึงได้เททองหล่อเนื้อทองของ พ.ต.อ.ชัชวาลย์เป็นลำดับแรก ซึ่งเนื้อทองคำทั้งหมดมีน้ำหนัก ๑๐ บาทเททองหล่อมาได้องค์ปฐมฤกษ์ครั้งแรกจำนวน ๑ องค์ เมื่อช่างปวีณใช้เหล็กคีบทนไฟขนาดใหญ่คีบกระป๋องซึ่งภายในบรรจุแบบเทียนพระยอดธงโดยห่อหุ้มด้วยดินไทยไปเคาะเอาดินหุ้มแบบเทียนพระยอดธงออก และนำองค์พระที่หลุดออกมาพร้อมก้านชนวนไปล้างในน้ำยาที่เทใส่กาละมังขนาดใหญ่ ภาพที่ปรากฏนั้นเป็นพระยอดธงเนื้อทองคำที่สวยมากโดยไม่ต้องแต่งเสริมหรือขัดเงาใดๆทั้งสิ้น เมื่อล้างแล้วช่างประวินได้นำไปถวายให้หลวงพ่อท่านพิจารณาดูองค์พระ ท่านวางพระที่ฝ่ามือด้านขวาพิจารณาสักครู่ก็พยักหน้าด้วยความปีติชื่นชมว่าหล่อได้สวยงาม ต่อมาได้เททองหล่อครั้งที่ ๒ ได้พระยอดธงทองคำอีก ๓ องค์ ครั้งที่ ๓ เนื้อทองขาด จึงเติมเนื้อสัมฤทธิ์ที่เคยขอหลวงพ่อไว้แล้วจำนวนเล็กน้อยได้มาอีก ๑ องค์ เนื้อชุดนี้จะมีสีสันวรรณะค่อนข้างขาว เมื่อ พ.ต.อ.ชัชวาลย์ นำถวายให้หลวงพ่อชมดูองค์พระ หลวงพ่อมีความประสงค์ที่จะหล่อพระยอดธงเนื้อทองคำไว้บูชาประจำองค์ท่าน พ.ต.อ.ชัชวาลย์ ได้มีศรัทธาจึงถอดสร้อยคอทองคำหนัก ๔ บาท ถวายในขณะนั้นทันที และหลวงพ่อได้เข้าสู่มณฑลพิธีเททองอีกครั้ง จึงได้พระยอดธงเนื้อทองคำ มาอีกจำนวน ๒ องค์ เป็นของหลวงพ่อ จำนวน ๑ องค์ เกิดเรื่องน่าอัศจรรย์ในขณะเททองครั้งนี้ เมื่อหลวงพ่อเข้าสู่มณฑลพิธีบริเวณหน้าเตาแก๊สหลอมเนื้อทองคำนั้น ท่านยืนพนมมือขึ้นแล้วแหงนหน้ามองสูงขึ้นไปด้านหน้า และด้านข้างขวามือ แล้วหันกลับมาด้านหน้าอีกขณะกำลังบริกรรมพระคาถาอยู่นั้น ช่างประวินจะจุดไฟเตาปรากฏว่าจุดยังไงไฟก็ไม่ติดทั้งที่เร่งความแรงแก๊สก็ตามเป็นอยู่อย่างนี้ ประมาณ ๓ - ๔ ครั้ง ช่างประวินบ่นพึมพำว่าหลวงพ่อทำซะแล้วแล้วยังพยายามจะจุดครั้งที่ ๔ หลวงพ่อซึ่งยังคงบริกรรมพระคาถาอยู่และยังไม่จบนั้น ท่านได้หยุดทั้งที่ยืนพนมมืออยู่แล้วพูดขึ้นว่า เดี๋ยวอย่าเพิ่งจุด เรายังท่องคาถาไม่จบจะติดได้ยังไงกันแล้วท่านก็หันมาพูดกับคุณประยุทธที่ยืนอยู่ด้านซ้ายมือว่า ต้องบอกกล่าวหลวงปู่ก่อนจึงเริ่มพิธีได้พูดจบท่านก็พนมมือหันไปทางขวาบริกรรมพระคาถาต่ออีกประมาณไม่ถึงนาทีก็จบลงและหลวงพ่อวางมือลงแนบตัว ช่างประวิณรีบจุดไฟ พลันก็ลุกโพลงในทันทีทันใดเป็นที่อัศจรรย์แก่บรรดาผู้คนที่มาร่วมพิธีกรรมในวันนั้น

สรุปว่า พระยอดธงเนื้อทองคำ ที่ทำเป็นกรณีพิเศษนั้นเป็นของหลวงพ่อ จำนวน ๑ องค์ พ.ต.อ.ชัชวาลย์จำนวน ๖ องค์ และของคุณวิเชียรอีกจำนวน ๑ องค์ รวม ๘ องค์ ลำดับต่อมาหลวงพ่อได้เทหล่อพระยอดธงเนื้อเงิน ซึ่งมีจำนวนเนื้อเงินประมาณ ๓ กิโลกรัม รวมได้พระยอดธงเนื้อเงินจำนวนทั้งสิ้น ๑๙๙ องค์ ซึ่งทุกองค์มีโค้ดและเรียงหมายเลขซึ่งจะได้กล่าวถึงข้างหน้า พระยอดธงเนื้อเงิน
แรกเริ่มเดิมทีหลวงพ่อท่านจะสร้างเฉพาะเนื้อสัมฤทธิ์เท่านั้น ต่อมาท่านปรารภว่าสร้างทั้งทีควรจะมีเนื้อเงินด้วย เพราะว่าการสร้างพระพุทธปฏิมากร หรือพระพุทธพิมพ์นั้นเป็นการสร้างเพื่อสาเหตุหลายประการคือ
๑. สร้างเพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. สร้างเพื่อเป็นเครื่องแทนองค์พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๓. สร้างเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ในภายภาคหน้าลูกหลานจะได้เห็นว่าในแต่ละยุคสมัยพระพุทธศาสนาเจริญหรือเสื่อมอย่างไร ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อในพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองจะมีการสังคายนาพระไตรปิฎก การทำนุบำรุงพระศาสนาและการสร้างพระพุทธปฏิมากรที่งดงามอลังการด้วยวัสดุที่ควรค่ายิ่ง และมีการสร้างพุทธพิมพ์ต่างๆมากมายและเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
๔. เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของพุทธศาสนิกชนทั่วไป หลวงพ่อท่านพูดให้ฟังเสมอว่าการสร้างพระนั้นมีอานิสงค์มาก ต้องมีความบริสุทธิ์ใจ มีเจตนาที่ดีและต้องสร้างด้วยวัสดุที่ทรงคุณค่า กล่าวคือ สร้างพระด้วยทองคำก็ได้อานิสงค์แบบทองคำ สร้างพระด้วยเนื้อเงินก็ได้ อานิสงค์แบบเงิน สร้างพระด้วยสัมฤทธิ์ก็ได้อานิสงค์แบบสัมฤทธิ์เป็นต้น และตัวท่านเองตั้งใจแน่วแน่ที่จะสร้างพระด้วยโลหะทรงคุณค่าที่สุดซึ่งในเรื่องการสร้างพระนี้จะมีกล่าวถึงโดยละเอียดในโอกาสต่อไป ดังนั้นท่านจึงให้สร้างพระยอดธงเนื้อเงินด้วย ใช้เนื้อเงินจำนวน ๓ กิโลกรัมและได้นำไปเทหล่อในวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ปราจีนบุรี การหล่อพระยอดธงเนื้อเงินนี้เป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์ โดยไม่ผสมโลหะอย่างอื่นเลย ซึ่งตามปกติต้องผสมเนื้อทองแดงประมาณ ๒๕ เปอร์เซนต์เพื่อให้ผิวเนื้อพระตึงแน่นไม่ฝ่อและปลั่งสดใสแต่แปลกเมื่อเทหล่อพระเนื้อเงินมา เนื้อพระไม่ฝ่อสุกสวยเปล่งปลั่งงดงามมาก เมื่อแรกเคาะออกมาจากบ้า ผิววรรณะจะออกแดงอมแสด เพียงล้างน้ำยาออกมาเนื้อพระกลับขาว
นวลงดงาม โดยไม่ต้องตัดแต่งผิวพระอีกแต่ประการใด มีจำนวนการสร้างเพียง ๑๙๙ องค์ เท่านั้น ทุกองค์เรียงหมายเลขและมีตอกโค้ดและบรรจุมวลสารพร้อมตะกรุดเงินทุกคนพร้อมกับพระยอดธงเนื้อสัมฤทธิ์ การตอก
หมายเลขและโค้ดพระเนื้อเงินนี้ ทำโดยช่างประวินแต่เพียงผู้เดียวในคืน วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
สรุปได้ว่าพระยอดธงเงินนั้นสร้างเสร็จก่อนพระเนื้อสัมฤทธิ์ การตอกโค๊ดพระยอดธงเนื้อเงินนั้นช่างประวินเป็นคนตอกเอง โดยโค๊ดนั้นคุณประยุทธ เป็นผู้สั่งทำขึ้นตามที่หลวงพ่อมอบหมาย โดยจะมีโค้ด อยู่ ๒ อย่างคือ
๑. โค๊ดหมายเลข ๑ (แบบเลขไทย)
๒. โค๊ดเจริญซึ่งตอกบริเวณด้านหลังองค์พระยอดธงเนื้อสัมฤทธิ์
ต่อจากนั้น หลวงพ่อเข้าประจำอาสนะและโยงสายสิญจน์นั่งขัดสมาธิอธิษฐานจิตบริกรรมพระคาถาภายหลังจากเททองหล่อเนื้อสัมฤทธิ์แล้วทั้งหมด โดยนั่งอธิษฐานเป็นเวลาประมาณ ๓๐ นาที พิธีในวันนั้นจึงแล้วเสร็จ แต่หลวงพ่อท่านก็ขอตรวจดูเนื้อพระ สภาพของมวลสารที่เพิ่งหล่อเสร็จและองค์พระแทบจะทุกองค์ทุกชุดที่เทหล่อแล้วเคาะออกมาจากเบ้า เรียกได้ว่าท่านนั่งดูช่าง ทั้งเทหล่อ ทั้งเคาะเบ้า ทั้งล้างชำระองค์พระ ทั้งตัดชนวน แทบจะตรวจทุกองค์ก็ว่าได้องค์ไหนชำรุดก็ให้คัดออกแยกเป็นหมวดหมู่ชัดเจน ไม่ให้หลอมใหม่ ท่านกล่าวว่า เมื่อหล่อเป็นรูปพระพุทธเจ้า ไม่กล้าทำลายหรือหลอมใหม่ด้วยไฟ เพราะฉะนั้นจึงให้คงสภาพไว้ ถือว่าท่านเอาใจใส่และพิถีพิถันทุกขั้นตอนในการสร้างทีเดียวเป็นเวลาประมาณเกือบ ๒ ชั่วโมงจนเพล พระยอดธงเนื้อสัมฤทธิ์ชุดนี้ หลวงพ่อให้นำเนื้อสัมฤทธิ์ทั้งหมดที่เหลือจากองค์พระศรีรัตนสักยมุนี (หลวงพ่อบุษราคัม) พระประธานวัดโนนสว่าง มาสร้าง (ซึ่งก่อนหน้านั้นทางวัดได้ทำการแบ่งเป็นชนวนให้ไปผสมในวัตถุมงคลบางรุ่นของทางวัดเองบ้างแล้ว) โดยหลวงพ่อสั่งห้ามไม่ให้แบ่งไปสร้างวัตถุมงคลอย่างอื่นอีก ให้นำไปสร้างพระยอดธงชุดนี้เท่านั้น ต่อมาจึงเข้าใจว่าเพราะเหตุใดหลวงพ่อท่านจึงพิถีพิถันกับการสร้างพระพุทธพิมพ์ชุดนี้ ทั้งที่ความเป็นจริงวัตถุมงคลของท่านที่ทางวัดจัดสร้างเอง จะมีความพิถีพิถันและเข้มขลังมากที่สุดทุกรุ่นก็ว่าได้
ซึ่งจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป สำหรับพระยอดธงนี้ท่านกล่าวให้ฟังว่า หลวงพ่อมีความตั้งใจจะสร้างพระยอดธง เพราะท่านเคยกล่าวเสมอว่าเป็นพระพุทธพิมพ์ที่งดงาม องอาจ อาจหาญ ปกป้องคุ้มครอง ป้องกันภัย และเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งไม่ว่าโดยพระพุทธานุภาพเอง โดยพระพุทธลักษณะที่งดงาม หรือโดยพระนามที่สูงส่งยิ่ง จากคำกล่าวของท่านที่ว่าเป็นพระยอดธง ยอดธรรมและภายหลังเมื่อสร้างพระสำเร็จแล้วท่านถวายพระนามพระยอดธงแห่งวัดโนนสว่างว่าพระพุทธแสนศึกอุดรไตรโลกนาถซึ่งจะกล่าวถึงที่มาที่ไปข้างหน้า ท่านให้ความ สำคัญกับชนวนเนื้อสัมฤทธิ์ที่เหลือจากองค์พระศรีรัตนสักยมุนี (หลวงพ่อบุษราคัม) พระประธานเนื้อสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย หน้าตัก ๑๐๙ นิ้ว ซึ่งเป็นพระที่งดงามยิ่งไม่ว่าโดยพระพุทธลักษณะ พระพุทธศิลป์หรือโดยพระนามที่ พระราชสังวรญาณ(หลวงพ่อไพบูลย์ สุมงฺคโล) แห่งวัดอนาลโย ดอยบุษราคัม อำเภอเมืองจังหวัดพะเยา ถวายพระนามไว้ (ซึ่งรายละเอียดเชิญติดตามได้ที่ประวัติพระศรีรัตนสักยมุนี) ชนวนพระชุดนี้หลวงพ่อท่านกล่าวเสมอว่าเพียงได้ ไปบูชาก็เหมือนได้อาราธนาองค์หลวงพ่อบุษราคัมไปบูชา ตามปกปักษ์รักษาตลอดเวลา เป็นมงคลยิ่งนักอย่าดูเบาในเนื้อชนวนสัมฤทธิ์ชุดนี้อย่างเด็ดขาด ซึ่งมีเรื่องเล่า เกี่ยวกับการยักยอกชนวนสัมฤทธิ์ของหลวงพ่อบุษราคัมไปขายภายหลังผู้กระทำเช่นนั้นต้องประสบกับวิบากกรรมต่างๆนานา ก็เป็นเพราะความเข้มขลังของเนื้อชนวนที่มาจากองค์จริงของท่านนั่นเอง หลวงพ่อพระครูพิพัฒน์วิทยาคม ท่านให้ความสำคัญกับชนวนเนื้อสัมฤทธิ์มากถึงขนาดที่เรียกว่าเสียดาย หากมีผู้ใดมาขอไปเป็นชนวนสร้างวัตถุมงคล ซึ่งทราบภายหลังว่า หลังจากสร้างพระยอดธงชุดนี้สำเร็จแล้ว ท่านไม่ให้วางพระยอดธงไว้ในตู้เช่าวัตถุมงคลของวัดเลย บางครั้งก็ไม่กล่าวถึงเลย และให้เก็บไว้บนห้องเก็บวัตถุมงคลส่วนตัวของท่านเอง หากมีคนมาขอบูชาท่านก็ให้ไปเอาลงมานิดหน่อยเท่านั้น เป็นที่ทราบของลูกศิษย์ใกล้ชิดว่า ท่านหวงพระชุดนี้นัก เพราะท่านเกรงว่าหากคนไม่รู้จักคุณค่าได้ไปก็ไม่ให้ความสำคัญกับองค์ท่าน ไม่บูชากราบไหว้หรือเท่าที่ควรจะเป็น แต่ความเป็นองค์พุทธคุณและเนื้อ ชนวนสัมฤทธิ์ทรงคุณค่านัก เมื่อท่านไม่ค่อยกล่าวถึงพระยอดธง นานเข้าผู้คนก็เข้าใจว่าพระชุดนี้หมดแล้ว แต่เมื่อมีคนที่ทราบถึงความศักดิ์สิทธิ์และทราบถึงปาฏิหาริย์ที่มีผู้ประสบมาเล่าขานกันปากต่อปากแล้ว เกิดความศรัทธามาขอบูชาถึงที่วัด ท่านจะทราบความรู้สึกของผู้นั้นว่ามีความศรัทธาจริงเป็นที่ยินดีนัก ท่านก็จะให้บูชาไป อีกทั้งยังจารพระคาถาลงบนพระยอดธงและอธิษฐานจิตให้อีกต่างหาก ซึ่งก่อนท่านจะจารอักขระเป็นต้องพนมมือกำองค์พระยกขึ้นท่วมศรีษะกล่าวขอขมา ขออนุญาตจารอักขระบนองค์พระทุกครั้งไป จนเห็นเป็นที่ชินสายตาของผู้มาขอบูชาพระยอดธง อาจเป็นเพราะสาเหตุดังกล่าวมานี้เอง จึงมีกระแสว่าพระยอดธงวัดโนนสว่างน่าจะหมดไปนานแล้ว ที่ยังเหลือทุกวันนี้เป็นการทำเสริม ซึ่งเป็นการกล่าวที่รู้เท่าไม่ถึงสาเหตุที่แท้จริง ขอให้ติดตามต่อไปจะเข้าใจว่าขั้นตอนต่างๆของการสร้างพระยอดธงยังมีรายละเอียดอีกมากไม่ว่าจะเป็นการฝังตะกรุดทองคำ ตะกรุดเงิน ตะกรุดทองแดงใต้ฐานพระ การบรรจุมวลสารต่างๆ การตอกโค้ด และการอุดใต้ฐานพระ ซึ่งแต่ละขั้นเป็นไปอย่างพิถีพิถัน และเข้มขลังภายใต้การดูแลควบคุมของหลวงพ่อทุกขั้นตอนซึ่งรายละเอียดจะกล่าวถึงในบทต่อไป ท่านตั้งสัจจะวาจาไว้ว่าจะทำการหล่อพระยอดธงเป็นพระประธานในวิหารวัดโนนสว่าง เพราะว่าได้อธิษฐานขอบารมีไว้เมื่อครั้งมีดำริจะสร้างวิหาร และเงินทุนก้อนแรกที่นำมาสร้างวิหารก็ได้มาจากการให้เช่าบูชาพระยอดธงนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันหลวงพ่อกำลังอยู่ในขั้น ตอนการเตรียมการหล่อ โดยจะหล่อด้วยเนื้อวัสดุสัมฤทธิ์ หน้าตัก ประมาณ ๑๕๙ นิ้ว จะกล่าวถึงพระยอดธงเนื้อสัมฤทธิ์ต่อแรกเมื่อเทออกมาจากเบ้าแล้วเคาะดินออกผิวพระจะมีสีสันวรรณะออกเป็นสีแดงปนแสดบ้าง เนื้อบางออกสุกเป็นสีแดงคล้ายเนื้อนากบ้าง บางองค์สีเหลืองคล้ายทองคำบ้าง บางองค์สีออกเหลืองคล้ายทองเหลืองบ้าง บางองค์ออกเป็นเนื้อสีขาวปนแดงคล้ายสัมฤทธิ์เงินบ้าง ซึ่งเป็นสีสันที่งดงามยิ่งนัก และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะเป็นเสน่ห์ของพระพุทธพิมพ์ชุดนี้ จึงสรุปได้ว่าวรรณะของพระมีหลายสีแต่ส่วนมากจะเป็น ๑.น้ำตาลเข้ม ๒. สีส้มอมชมพูคล้ายนาก ๓. สีขาวปนเทาคล้ายสัมฤทธิ์เงิน ๔.สีเทา ๕.สีดำอ่อนปนเทา ๖.สีน้ำตาลคล้ายมันปู ๗.สีเหลืองคล้ายทองคำ และ ๘.สีคล้ายทองเหลือง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะชนวนเนื้อสัมฤทธิ์นั้นประกอบไปด้วยเนื้อโลหะหลายชนิด
สัมฤทธิ์ คืออะไร ทำไมต้องสัมฤทธิ์ชาวบ้านเราๆท่านคงไม่เข้าใจหรือเข้าใจแต่อาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงที่มาที่ไป ดังนั้นจะขอกล่าวถึงสัมฤทธิ์พอสังเขปถึงที่มาที่ไปโดยมีข้อความที่ตรียัมปวายเคยเขียนไว้ว่า คำว่าสัมฤทธิ์ตามพจนานุกรม หมายความว่า น. ความสำเร็จ ถ้าหมายถึงโลหะก็จะหมายถึงโลหะเจือชนิดหนึ่งประกอบด้วยทองแดงกับดีบุก ทองสัมฤทธิ์หรือสัมฤทธิ์ ก็เรียก เขียนว่า สำริด ก็มี โลหะผสมที่นำมาสร้างพระพุทธรูปหรือพระรูปหล่อลอยองค์ โดยมากใช้โลหะธาตุทองแดงผสมกับดีบุกและโลหะธาตุอื่นๆ แล้วแต่จะผสมกันไปตามสูตรของใครของมัน และในปัจจุบันเรียกกันว่า "เนื้อสัมฤทธิ์" แต่ถ้าจะพูดถึงโลหะสัมฤทธิ์ตามสูตรโบราณแท้ๆ นั้นเขามีหลักมีเกณฑ์ในการผสมโลหะและเพื่อให้เป็นสิริมงคล จึงได้ใช้คำเรียกโลหะผสมชนิดนี้ว่า "สัมฤทธิ์" ซึ่งหมายถึงการสัมฤทธิ์ผล หรือสัมฤทธิ์ประโยชน์ตามความปรารถนา ทั้งนี้หมายความถึง ความสำเร็จ
นับแต่เริ่มต้นในการผสมโลหะตามสูตร การลงอักขระเลขยันต์ให้สำเร็จเป็นอิทธิวัตถุ บังเกิดเป็นมงคลและความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และในประการสุดท้ายเมื่อนำอิทธิวัตถุสำเร็จไปใช้แล้ว ก็ย่อมจะอำนวยให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ปรารถนาได้ อาจสรุปได้ว่า แม้เพียงแต่การผสมโลหะต่างๆตามมูลสูตร แผ่เป็นแผ่นลงอักขระเลขยันต์ แล้วหล่อหลอมรวมกัน ก็ถือได้ว่าเป็นของวิเศษสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องรางของขลังได้ทันที ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า โลหะสัมฤทธิ์เป็นมงคลโลหะที่เหมาะสมที่สุดแก่การที่จะนำมาสร้างเป็นองค์พระปฏิมาโลหะสัมฤทธิ์ตามโบราณซึ่งใช้โลหะธาตุบริสุทธิ์ต่างๆ ตั้งแต่ ๓ ชนิดขึ้นไปและอย่างมากที่สุดจะไม่เกิน ๙ ชนิด หล่อหลอมผสมกันตามอัตราส่วนสำเร็จขึ้นมาเป็นโลหะชนิดใหม่เรียกว่า "สัมฤทธิ์" อย่างไรก็ดีโลหะสัมฤทธิ์จะต้องใช้โลหะตระกูลสูง ๒ ชนิด คือ ทองคำและเงิน เป็นส่วนผสมหลักอยู่ด้วยเสมอ มิฉะนั้นจะไม่ถือว่าเป็น โลหะสัมฤทธิ์ นอกจากนี้จะต้องมีโลหะยืนโรง อีกชนิดหนึ่ง คือทองแดง ซึ่งจะต้องใช้มากเพื่อให้ได้ปริมาณ
ตระกูลของสัมฤทธิ์ที่ถูกต้องตามสูตรโบราณมีอยู่ ๕ ตระกูล คือ สัมฤทธิ์ผล สัมฤทธิ์โชค สัมฤทธิ์ศักดิ์ สัมฤทธิ์คุณ และ สัมฤทธิ์เดช รวมเป็นสัมฤทธิ์ ๕ ตระกูล อันมีความพิสดารดังต่อไปนี้
๑. สัมฤทธิ์ผล คือสัมฤทธิ์แดง หรือตรีโลหะ มีมงคลความหมายถึง พระรัตนตรัยเป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อสาม ผสมด้วยโลหะธาตุ ๓ ชนิด คือ ทองแดง เป็นส่วนใหญ่และเจือด้วยเงินกับทองคำ สัมฤทธิ์ตระกูลนี้มีวรรณะแดงคล้ายนาก แต่มีผิวเจือด้วยวรรณะคล้ำๆ คล้ายสีมะขามเปียกโบราณถือว่าเป็นมงคลวัตถุ อำนวยผลนานาประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเมตตามหานิยมพระพุทธรูปสมัยอู่ทองโดยเฉพาะพระพุทธรูปอู่ทองหน้าแก่มักสร้างด้วยเนื้อนี้
๒. สัมฤทธิ์โชค คือสัมฤทธิ์เหลือง หรือปัญจโลหะ เป็นโบราณนิยามหมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕) คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อห้า ได้แก่ ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เงิน ทองคำ มีวรรณะ
เหลืองคล้ายเนื้อกลองมโหระทึก หรือขันลงหิน มีแววนกยูงภายในเนื้อ เป็นสัมฤทธิ์ที่ให้คุณหนักไปทางด้านลาภผล กับความสำเร็จ พระพุทธรูปสกุลช่างสุโขทัยบางยุคและพระเชียงแสน พระชัยวัฒน์ของสมเด็จพระสังฆราชแพ บางรุ่น และพระกริ่งพระชัยวัฒน์ของท่านเจ้าคุณศรีสนธิ์บางรุ่นก็สร้างด้วยเนื้อนี้
๓. สัมฤทธิ์ศักดิ์ คือสัมฤทธิ์ขาว หรือสัตตโลหะ เป็นมงคลนามหมายถึง โพชฌงค์ ๗ คือ องค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ มี ๗ ประการ ได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา สัมฤทธิ์ศักดิ์เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเจ็ด ประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ปรอท เหล็กละลายตัว เงิน และทองคำ สัมฤทธิ์ตระกูลนี้มีวรรณะหม่นคล้ำน้อยๆ แต่มีแวววรรณะขาวผสมผสานอยู่ นับถือกันว่าอำนวยผลในด้านอำนาจ มหาอุด คงกระพัน แคล้วคลาด
๔. สัมฤทธิ์คุณ คือสัมฤทธิ์เขียว หรือนวโลหะ หมายถึง นัยของ ธรรมอันสูงสุดในพระศาสนา อันได้แก่ นวโลกุตตรธรรม อันมี มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ สัมฤทธิ์คุณเป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้า เช่นเดียวกับสัมฤทธิ์เดช ประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ปรอท เหล็กละลายตัวชิน จ้าวน้ำเงิน เงิน และทองคำ แต่สัมฤทธิ์ตระกูลนี้แก่ส่วนผสมของเนื้อเงินมากกว่าธรรมดา ฉะนั้น เนื้อภายในจึงมีวรรณะสีจำปาอ่อนหรือนากอ่อนแต่ผิวเนื้อเมื่อกลับคล้ำเพราะถูกไอเหงื่อ จะมีวรรณะคล้ำเจือเขียวเตยหม่นแกมเหลืองอ่อนคล้ำมีแววขาวโดยตลอดเนื้อสัมฤทธิ์ชนิดนี้อำนวยคุณวิเศษเช่นเดียวกับสัมฤทธิ์เดชทุกประการ
๕. สัมฤทธิ์เดช คือสัมฤทธิ์ดำ หรือนวโลหะ เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้า เช่นเดียวกับสัมฤทธิ์คุณ แต่มีสัดส่วนการผสมได้เกณฑ์ถูกต้องตามมูลสูตรมากที่สุด ดังนั้นภายในจึงมีวรรณะจำปาแก่ หรือสีนากแก่ ผิวเนื้อเมื่อกลับคล้ำเพราะต้องไอเหงื่อ จะดำสนิท ประหนึ่งนิลดำ เรียกกันว่า"สัมฤทธิ์เนื้อกลับ" โบราณถือว่าสัมฤทธิ์นวโลหะทั้ง ๒ ประเภทนี้ เป็นสัมฤทธิ์ที่สมบูรณ์ที่สุด หรือเป็นยอดของสัมฤทธิ์ อำนวยผลในด้านมหาอุตม์ อันสูงส่ง คืออำนาจตบะเดชะ มหานิยม ลาภผล ความสำเร็จ คงกระพัน แคล้วคลาด ทุกประการ สูตรผสมเนื้อสัมฤทธิ์เดช หรือนวโลหะ ที่เป็นตำรับของสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว ยุคกรุงศรีอยุธยา ตกทอดมาอยู่กับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมล-มังคลาราม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (มา) ครั้งยังเป็นพระมงคลทิพยมุนี วัดจักรวรรดิราชาวาส และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม ครั้งยังเป็นพระเทพโมลี ตามลำดับเกณฑ์อัตราส่วนผสมของโลหะทั้ง ๙ ชนิด มีดังนี้
๑. ชิน หนัก ๑ บาท ๒. จ้าวน้ำเงิน หนัก ๒ บาท
๓. เหล็กละลายตัว หนัก ๓ บาท ๔. ตะกั่วเถื่อน หนัก ๔ บาท
๕. ปรอท หนัก ๕ บาท ๖. สังกะสี หนัก ๖ บาท
๗. บริสุทธิ์ (ทองแดงเถื่อน) หนัก ๗ บาท ๘. เงิน หนัก ๘ บาท
๙. ทองคำ หนัก ๙ บาท
ต่อไปเป็นขั้นตอนการบรรจุมวลสารและตะกรุดใต้ฐาน พระยอดธง ณ วัดโนนสว่าง โดย พระครูพิพัฒน์วิทยาคม วันที่ ๑๗ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ได้นำพระยอดธงเนื้อสัมฤทธิ์ ทั้งหมด จำนวน ๕,๘๗๔ องค์ (ห้าพันแปดร้อยเจ็ดสิบสี่องค์) และพระยอดธงเนื้อเงิน จำนวน ๑๙๙ องค์ และ พระยอดธงเนื้อสัมฤทธิ์แบบช่อ จำนวน ๒๐ ชุด ซึ่งเสร็จทุกขั้นตอนการหล่อและขัดแต่งแล้วจากโรงหล่อที่อำเภอศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี ไปที่วัดโนนสว่างโดยมี พ.ต.อ.ชัชวาลย์ และคุณประยุทธ เดินทางโดยเครื่องบินไปถึงวัดโนนสว่าง เมื่อเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น. และเมื่อหลวงพ่อฉันเช้าเรียบร้อยแล้วได้เรียกพระภิกษุสามเณรทั้งหมดมาที่กุฏิท่าน เพื่อช่วยกันบรรจุมวลสารมงคลและตะกรุดรวมถึงทำการตอกโค้ดพระยอดธงทุกองค์ในทันที ซึ่งในครั้งนี้ได้ทำการรีดแผ่นเงินสำหรับนำมาเขียนตะกรุดเงินบรรจุองค์พระยอดธงทั้งหมด และเมื่อแผ่นเงินหมดแล้วก็ใช้แผ่นทองแดงรีดบางเขียนต่อ โดยครั้งนี้หลวงพ่อเป็นผู้เขียนตะกรุดด้วยตัวท่านเองทั้งหมดซึ่งได้เริ่มเขียนไว้ก่อนหน้านั้นประมาณ ๑ เดือน และท่านปลุกเสกเดี่ยวทุกเย็น จึงเป็นที่แน่ใจว่าแม้เพียงตะกรุดเล็ก บรรจุใต้ฐานพระยังผ่านขั้นตอนการทำอย่างเป็นระบบระเบียบและมีการปลุกเสกเป็นเบื้องต้นแล้ว ตะกรุดเงินและตะกรุดทองแดงทั้งหมดใต้ฐานพระประกอบด้วยพระคาถาต่อไปนี้
พระคาถาพระเจ้าแสนศึก (หรือพระเจ้ายอดธงออกศึก)
พระคาถาอิติปิโสวิเสส (ท่านว่าดีสารพัด)
พระคาถาขอมดำดิน (ป้องกันภัยอันตราย ท่านว่าผู้ใดมาปองร้ายไม่เห็นตัวเรา)
พระคาถาหัวใจพระเจ้า ๔ พระองค์
พระคาถายอดธรรม (ได้ที่วัดพระศรีมหาธาตุ ในคืนวันที่มีดำริสร้างพระยอดธง)
พระคาถามหาอุจ
พระคาถาไหลเป็นน้ำ
พระคาถาสาลิกาลิ้นทอง
ส่วนผงพุทธคุณและผงมวลสารมงคลต่างๆ นั้นประกอบด้วย

ดินศักดิ์สิทธิ์พระธาตุพุทธบาทโพนสัน นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว

ดินพระเจดีย์บรมพระบรมอัฐิพระเจ้าตากสินมหาราช ณ จังหวัดจันทบุรี
ดินพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ในที่ต่างๆ จำนวน ๙ พระธาตุ
ดินจากสังเวชนียนียสถานทั้ง ๔ ในประเทศอินเดีย
ดินในสถานที่ศักดิ์ที่หลวงพ่อได้มาจากนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว
ดินบริเวณอุโบสถวัดบ้านงอย ซึ่งเป็นวัดโบราณ
ดินพระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลย
ผงว่านกระทู้ ๗ แบก (เป็นมหาอุจ มหานิยม ดีสารพัดอย่าง)
ผงว่านไพรดำ (เป็นมหาอุจ เมตตามหานิยม)
ผงว่านเพชรหน้าทัง (เป็นมหาอุจ เมตตามหานิยม ดีสารพัด)
โคตรเหล็กไหล
ผงว่านของพระผงว่านขุนแผนแสนสะท้าน วัดโนนสว่าง
ผงคายธรรม (เป็นผงมวลสารหลักที่ผสมในเนื้อว่านวัตถุมงคลวัดทุกรุ่น)
เมล็ดข้าวสารดำ (ท่านว่ามีไว้กินไม่หมด ทำมาค้าขึ้น)

ผงปถมัง
ผงว่านสบู่เลือดตัวผู้ ตัวเมีย
ผงว่านเสน่ห์จันทน์
ผงว่านขมิ้นดำ
ผงว่านแสงพระอาทิตย์
ผงว่านขมิ้นขาว
ผงชานหมากพระครูพิพัฒน์วิทยาคม
ผงใบลานเก่า
รวมทั้งสิ้น ๒๒ มวลสารที่เป็นมงคลยิ่ง
การบรรจุมวลสารและตะกรุด บรรยากาศในวันบรรจุองค์พระยอดธงเป็นไปอย่างคึกคักโดยพระภิกษุสามเณรและบรรดาลูกศิษย์ทั้งหมดต่างช่วยกันตั้งแต่เช้า หลวงพ่อนั่งเป็นประธานในการบรรจุโดยท่านเป็นผู้เริ่ม
หยิบพระทีละองค์ที่ทำการตอกโค้ดแล้วขึ้นมาบรรจุตะกรุดไว้ด้านใต้ฐานองค์พระและนำมวลสารที่เคี่ยวรวมกันแล้วมาบรรจุอุดตะกรุดไว้ แต่

บางองค์ก็บรรจุผงมวลสารก่อนจึงบรรจุตะกรุดตามลงไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าบางองค์เห็นตะกรุดแต่บางองค์ไม่เห็นเลยหรือเห็นน้อยมาก แต่เป็นที่แน่ใจได้ว่าทุกองค์นั้นมีทั้งมวลสารและตะกรุดเงินหรือทองแดงแล้วแต่กรณีอย่างละชุดแน่นอน
การตอกโค๊ด ขั้นตอนการตอกโค๊ดพระยอดธงเนื้อสัมฤทธิ์นั้นเป็นไปด้วยความทุลักทุเล สาเหตุเป็นเพราะเนื้อพระแกร่งมากหากตอกด้วยความแรงปกติหรือพอประมาณจะติดไม่เต็มหรือแทบจะเลือนรางทีเดียวทดลองตอกดูมือลงเบาไปไม่ติดพอลงหนักติดดีแต่แรงไม่ไหว เปลี่ยนกันตอกหลายคนจนได้พระภิกษุรูปหนึ่งในวัดนั้นเองเป็นช่างกลึงรูปร่างล่ำสันองค์นี้ท่านตอกได้ดีแรงไม่ตก จึงเป็นหน้าที่ของท่านเกือบจะทั้งหมดทีเดียว
ตะกรุดที่หลวงพ่อเตรียมไว้ไม่พอท่านต้องเขียนใหม่แล้วเสกเป่าแล้วม้วนบรรจุเป็นอยู่อย่างนี้จนแล้วเสร็จทั้งหมดก็ปาเข้าไปเกือบตี ๒ ของอีกวันหนึ่ง พ.ต.อ.ชัชวาลย์เป็นคนรอบคอบมากดูแลขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าว
มาช่วยหลวงพ่อตั้งแต่เช้าจนเย็น เรียกได้ว่าไม่ทานเข้าเย็นกันเลยทีเดียวจนดึก แล้วก็เป็นผู้ควบคุมการนับจำนวนพระยอดธงบรรจุใส่หีบห่อทุกองค์จนแล้วเสร็จทุกขั้นตอนสรุป ยอดรวมทั้งหมดของพระยอดธงชุดนี้ คือ
เนื้อทองคำ สร้างทั้งหมด ๘ องค์ (กรณีพิเศษ)
เนื้อเงิน สร้างทั้งหมด ๑๙๙ องค์
เนื้อสัมฤทธิ์ สร้างทั้งหมด ๕,๘๗๔ องค์ (ในจำนวนนี้หล่อไม่สมบูรณ์ จำนวน ๑๘ องค์ หลวงพ่อเก็บไว้เอง)
พระช่อ แบบเนื้อสัมฤทธิ์ จำนวน ๒๐ ช่อ
แบบพิมพ์พระ เป็นบล็อกซิลิโคน มีจำนวน ๒๗ บล็อก (เสีย ๑ บล็อก)
พ.ต.อ.ชัชวาลย์ วชิรปาณีกูล ได้นำมาถวายคืนหลวงพ่อทั้งหมด ความเป็นมาของพระนามว่าพระพุทธแสนศึกอุดรไตรโลกนาถเมื่อวันที่ ๓๑ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๓.๓๙ น. ในระหว่างดำเนินการสร้างพระชุดนี้ หลวงพ่อพระครูพิพัฒน์วิทยาคม ได้ปรารภกับคุณประยุทธ ประเทศเสนาว่า พระยอดธงนี้ ต่อไป ภายหน้าจะเป็นพระประธานในวิหาร และเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านชาวเมือง เหมือนหลวงพ่อบุษราคัมซึ่งในขณะนั้นยังไม่เริ่มก่อสร้างวิหารเพราะอุโบสถยังไม่เสร็จ หลวงพ่อกล่าวอีกว่าจะถวายพระนามพระยอดธงว่า พระพุทธโลกนาถ” ครั้งที่หนึ่งหยุดพูดแล้วกล่าวต่อว่า พระอุดรโลกนาถหยุดพูดแล้วกล่าวต่อเป็นคำรบสามว่า พระพุทธแสนศึกอุดรโลกนาถหยุดพูดอีกประมาณ ๑ นาที แล้วกล่าวเป็นคำรบสี่ว่า พระอุดรแสนศึกโลกนาถ” หยุดแล้วพูดต่อว่า พระอุดรแสนศึกไตรโลกนาถ” พอกล่าวจบในทันทีทันใดท่านก็
กล่าวขึ้นด้วยเสียงดังกว่าเดิมว่า พระพุทธแสนศึกอุดรไตรโลกนาถ” และให้ลงท้ายเรียกขานพระนามท่านว่า พระเจ้ายอดธงพูดจบท่านก็กล่าวว่าคืนนี้จะอธิษฐานจิตว่าจะสมควรประการใดหรือไม่ที่จะถวายพระนามท่านดังที่กล่าวมา และภายหลังจากวันนั้นท่านก็เรียกขานพระนามพระยอดธงชุดนี้ตามที่ถวายพระนาม และเรียกขานสั้นๆว่า พระเจ้ายอดธง”  การเช่าบูชาพระเจ้ายอดธง วัดโนนสว่าง ๕๑๙ บาท คงเป็นที่แปลกใจของหลายท่านว่าในเมื่อวัดโนนสว่างสร้างพระเนื้อสัมฤทธิ์ซึ่งบอกว่าเป็นเนื้อสัมฤทธิ์ที่เหลือจากองค์พระศรีรัตนสักยมุนี หลวงพ่อบุษราคัม พระประธานสัมฤทธิ์องค์ศักดิ์สิทธิ์ในอุโบสถวัดโนนสว่าง และเป็นชนวนเนื้อสัมฤทธิ์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ประดุจองค์จริงหลวงพ่อบุษราคัม และพระครูพิพัฒน์วิทยาคมหวงแหนชนวนชุดนี้มากและให้นำมาสร้างพระเจ้ายอดธงทั้งหมด อีกทั้งการสร้างพระนั้นมีความพิถีพิถันเป็นขั้นเป็นตอนประกอบด้วยรายละเอียดที่ถูกต้องชัดเจนอย่างที่สุดแม้ขั้นตอนการบรรจุใต้ฐานพระรวมถึงการบรรจุตะกรุดทั้งเงินและตะกรุดทองแดงหลวงพ่อก็เขียนเองทุกชุด จนเข้าพิธีมหาพุทธาภิเษกที่เข้มขลังจนสำเร็จเป็น พระพุทธแสนศึกอุดรไตรโลกนาถ พระเจ้ายอดธงที่งดงามและเข้มขลังนั้น ทำไมหลวงพ่อให้เช่าไปบูชา ๕๑๙ บาท เพราะหลวงพ่อต้องการให้ชาวบ้านได้พระที่เป็นมงคลยิ่งไปบูชา เพราะท่านกล่าวเสมอว่าใครมีพระสัมฤทธิ์ไปสักการะบูชา ทำอะไรก็สำเร็จดัง ปรารถนาทุกประการและท่านกล่าวว่าหากราคาเช่าบูชาสูงชาวบ้านจะลำบากที่จะเช่าหาไปบูชา
แต่เป็นที่ทราบกันว่าหลวงพ่อท่านหวงพระสัมฤทธิ์ชุดนี้เพราะเมื่อแรกให้เช่าท่านก็ไม่ให้วางไว้ในตู้พระเลยแม้แต่องค์เดียว เพราะท่านเคยกล่าวว่าใครมีความศรัทธาอยากได้ไปบูชาจะขวนขวายมาหาของเขาเอง หากใครไม่มีศรัทธาไม่มีวาสนากับพระเจ้ายอดธงก็จะไม่มาหาท่าน ซึ่งเป็นไปตามบุญวาสนาของแต่ละบุคคลนั่นเอง
บทสรุป ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นอีกเรื่องราวหนึ่งของการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลของ พระครูพัฒน์วิทยาคม (พระอาจารย์เจริญ ฐานยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดโนนสว่างเจ้าคณะตำบลหมากหญ้าฝ่ายธรรมยุต ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอจังหวัดอุดรธานี การสร้างวัตถุมงคลของท่านนั้นหากสร้างโดยท่านเองในนามวัดโนนสว่าง ทุกขั้นตอนจะต้องมีรายละเอียดชัดเจน ละเอียดละออ เรียบร้อย งดงามตามแบบศิลปะที่ถูกต้องของวัตถุมงคลชนิดนั้นๆ และท้ายที่สุดก็คือต้องผ่านพิธีพุทธาภิเษกอันเข้มขลัง ซึ่งจะได้กล่าวถึงพิธีของท่านในโอกาสต่อไป เมื่อผ่านทุกขั้นตอนแล้วหลวงพ่อจึงให้ชาวบ้านนำไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัวต่อไปด้วยความศรัทธาที่เต็มเปี่ยมและมั่นใจในคุณพระรัตนตรัย.