ประยุกต์ใช้ โพสล่าสุด โพสสำคัญ เครื่องมือ สมาชิก สถิติฟอรั่ม ธนาคาร
หัวข้อ : ทำเนียบวัตถุมงคลวัดโนนสว่าง(หลวงพ่อเจริญ  ฐานยุตโต)
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 

ทำเนียบวัตถุมงคลวัดโนนสว่าง(หลวงพ่อเจริญ  ฐานยุตโต)

อ้างอิง: หัวข้อนี้ถูกเน้น โดย admin เมื่อเวลา(2011-11-10)
เรียบเรียงจากข้อมูลที่รวบรวมจากวัดโนนสว่าง เป็นวัตถุมงคลของวัด และวัดสาขา
รูปภาพ: j28.jpg
รูปภาพ: j41.jpg
รูปภาพ: j40.jpg
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 
วัดโนนสว่าง (ข้อมูลจาก http://udn.onab.go.th/  ::: สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุดรธานี)

    วัดโนนสว่าง  เลขที่  300  หมู่ที่  3  ถนนอุดร-กุดหมากไฟ  ต.หมากหญ้า  อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี  41360  โทร. 042-285875

    ได้รับอนุญาตสร้างวัดเมื่อวันที่  9  เดือนกันยายน  พ.ศ. 2531
    ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่  29  เดือนพฤศจิกายน  พ.ศ. 2532
    ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่  15  เดือนพฤษภาคม  พ.ศ. 2539  
    ขนาดของวิสุงคามสีมา  กว้าง  16  เมตร  ยาว  28  เมตร
    ที่ดินตั้งวัด  20  ไร่  ต่อมาขยายเพิ่มเติมอีก  45  ไร่


เจ้าอาวาส  คือ  พระครูพิพัฒน์วิทยาคม  นามเดิม  เจริญ  ฉายา  ฐานยุตฺโต  นามสกุล สารักษ์  อายุ  44  ปี  พรรษา  24  วิทยฐานะ  น.ธ.เอก  สำนักเดิม  วัดบุญญานุสรณ์  บรรพชาเป็นสามเณร  มีพระครูประสิทธิ์คณานุการ (คำดี  ธมฺมธโร)  เป็นพระอุปัชฌาย์  อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  มีพระครูสิริธรรมวัฒน์ (ทองพูน  สิริกาโม)  เป็นพระอุปัชฌาย์
    เป็นเจ้าอาวาส  เมื่อวันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ. 2532
    ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ครั้งแรก  เมื่อวันที่  5  ธันวาคม  พ.ศ.  2537
    ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นโท  เมื่อวันที่  5  ธันวาคม  พ.ศ. 2542
    ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลหมากหญ้า (ธ)  เมื่อวันที่  1  มีนาคม  พ.ศ.  2542
    มีพระภิกษุ-สามเณร  จำพรรษาปี  พ.ศ.  2547  รวม  50  รูป


ประวัติพระครูพิพัฒน์วิทยาคมโดยสังเขป


    พระครูพิพัฒน์วิทยาคม  (พระอาจารย์เจริญ  ฐานยุตฺโต)  มีนามเดิมว่า  เจริญ  นามสกุล สารักษ์ เกิดเมื่อ  วันพุธ  ตอนใกล้รุ่ง  ตรงกับวันที่  7  มิถุนายน  พ.ศ. 2504  ณ บ้านหนองวัวซอ  ต.หมากหญ้า (ปัจจุบัน คือ ตำบลหนองวัวซอ)  อ.หนองวัวซอ  จ.อุดรธานี
    โยมบิดาชื่อ  นายสงวน  สารักษ์  โดยพื้นเพต้นตระกูลเป็นคนบ้านหนองไข่นกม่วงสามสิบ  จ.อุบลราชธานี  โดยได้มาอยู่ที่อำเภอหนองวัวซอ  โดยมีปู่คือ พ่อใหญ่สารวัตรนา  สารักษ์  ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในบ้านหนองวัวซอ  และมีย่า คือ แม่บัวมี  อัควงษ์  ซึ่งพื้นเพมีเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองในสมัยเก่าของจังหวัดหนองบัวลำภู
    โยมมารดาชื่อ นางฮวด  สกุลเดิม  โคตรรวิช  โดยพื้นเพเป็นคนบ้านเชียงหวาง อ.เพ็ญ จ.อุดรธานีต่อมาโยมมารดาได้ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ที่บ้านโนนทัน  จ.หนองบัวลำภู และแต่งงานกับโยมบิดาที่บ้านหนองวัวซอ  ได้ประกอบสัมมาอาชีพ  ทำไร่  ทำนา  ต่อมาได้ให้กำเนิดบุตรธิดาด้วยกัน  10  คน คือ
        1.  นายทองม้วน        สารักษ์
        2.  นายบุญชุ่ม        สารักษ์
        3.  นายบุญคุ้ม        สารักษ์
        4.  นางหนูเล็ก        สารักษ์
        5.  นายบุญเชิญ        สารักษ์
        6.  พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (พระอาจารย์เจริญ  สารักษ์)
        7.  นางหนูเกียรติ    สารักษ์
        8.  นายสมยศ        สารักษ์
        9.  นายสมศักดิ์        สารักษ์
      10.  นายสมควร        สารักษ์ (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์)    
    เมื่ออายุเข้าเกณฑ์การศึกษา  นายสงวน  สารักษ์  ผู้เป็นบิดาได้นำเด็กชายเจริญ  สารักษ์  เข้าศึกษาจนจบชั้นประถมศึกษา  4  (ประถม  4  คือ ภาคบังคับในสมัยนั้น)  ณ  โรงเรียนบ้านหนองวัวซอ (ปัจจุบันคือ โรงเรียนอนุบาลหนองวัวซอ)  เมื่อจบการศึกษาในภาคบังคับแล้ว  เด็กชายเจริญ  สารักษ์  ก็มิได้คิดจะศึกษาเล่าเรียน  อีกทั้งมีจิตใจปฏิพัทธ์ในรสพระธรรม  จึงได้บรรพชาบวชเรียนเป็นสามเณร  ณ  วัดบุญญานุสรณ์  บ้านหนองวัวซอ  ต.หนองวัวซอ  จ.อุดรธานี    โดยมีท่านพระครูประสิทธิ์คณานุการ
(คำดี  ธมฺมธโร) เป็นพระอุปัชฌาย์  เมื่อสามเณรเจริญ  สารักษ์  มีอายุครบอุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. 2524  ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ณ  อุโบสถวัดป่าสามัคคีอุปถัมภ์  อ.บีงกาฬ  จ.หนองคาย  โดยมีพระครูสิริธรรมวัฒน์  (ทองพูน  สิริกาโม)  เป็นพระอุปัชฌาย์  พระครูสุนทรนวกิจ  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และพระครูวินัยกิจโสภณ  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ได้รับฉายาในทางพระพุทธศาสนาว่าฐานยุตฺโต ในคณะธรรมยุตติกนิกาย
    พระครูพิพัฒน์วิทยาคม  ได้รับนิมนต์มาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโนนสว่าง  บ้านโนนสว่าง  ซึ่งแต่เดิมมีสถานะเป็นสำนักสงฆ์  ภายหลังจากท่านเจ้าอาวาสรูปเดิมคือพระครูพุทธศาสโนวาท (พระอาจารย์ชาลี  ถาวโร)  ได้ถึงแก่มรณภาพลง  ซึ่งท่านได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์สำนักสงฆ์แห่งนี้  จนมีสถานะเป็นวัดเมื่อวันที่  29  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2532  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อวันที่  23  พฤษภาคม  พ.ศ. 2539  เริ่มมีการสร้างเสนาสนะที่พักสงฆ์  ศาลาการเปรียญที่ปฏิบัติธรรม  จนทำให้วัดโนนสว่างแห่งนี้เจริญรุ่งรืองสืบต่อมา

สมณศักดิ์และหน้าที่การงานทางคณะสงฆ์

วันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ.  2532    ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโนนสว่าง
วันที่  5  ธันวาคม  พ.ศ.  2537    ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร  
เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นตรี  มีราชทินนามที่  พระครูพิพัฒน์วิทยาคม    
วันที่  1  มีนาคม  พ.ศ.  2542    เป็นเจ้าคณะตำบลหมากหญ้า  ธรรมยุต
วันที่  5  ธันวาคม  พ.ศ.  2542    ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์  เจ้าคณะตำบลชั้นโท
วันที่  19  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2543  เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง
วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560     ได้รับแต่งตั้ง..รักษาการเจ้าคณะอำเภอหนองวัวซอ


คลิ๊กภาพเพื่อดูไสลด์

ผลงานที่ปรากฏแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป

    1.  มีการฝึกอบรมการปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิแก่เยาวชนและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
    2.  จัดให้มีการบวชชีพราหมณ์ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  และมีผู้เข้าร่วมการบวชชีพราหมณ์เพื่อรักษาศีลและปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก
    3.  มีการเทศน์อบรมธรรมในวันธรรมสาวนะแก่พระภิกษุสามเณร  และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ตลอดถึงเยาวชนเพื่อให้ทราบข้อธรรมในการที่จะปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากยาเสพติดและอบายมุขต่าง ๆ
    4.  ได้ฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสานโดยให้มีการดำรงและอนุรักษ์ไว้ซึ่งประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานตามหลักฮีต  12  ครอง  14  เช่น  ประเพณีบุญพระเวสสันดรตามหลักโบราณของอีสาน เป็นต้น
    5. โน้มน้าวให้เยาวชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของวัด เช่น จัดให้มีคณะตีกลองยาวไปแสดงในเทศกาลบุญต่าง ๆ อันเป็นการเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีในกลุ่มเยาวชนและเสริมสร้างรายได้พิเศษให้แก่เยาวชนเหล่านั้น
    6.  มีการส่งเสริมการขับร้องสารภัญญะและการแข่งขันกลองกริ่งซึ่งเป็นประเพณีโบราณของชาวอีสานโดยจัดให้มีการประกวดการขับร้องสารภัญญะและการแข่งขันตีกลองกริ่งในวันออกพรรษาทุก ๆ ปี  มีโล่เกีรยติยศพร้อมเงินสดและใบประกาศนียบัตร
    7.  มีการส่งเสริมให้เลิกดื่มสุราและงดยาเสพติดโดยการสาบานตนต่อหน้าพระประธานและดื่มน้ำพุทธมนต์
    8.  สืบสานวัฒนธรรมประเพณีการทอดกฐินแบบจุลกฐิน  ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากในปัจจุบันโดยงานประเพณีนี้ได้มีการจัดขบวนแห่เพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนต่าง ๆ ตามลำดับของงานจุลกฐิน
    9.  งานบุญประเพณีตามเทศบาลต่าง ๆ ที่ทางวัดได้จัดขึ้น  ได้เป็นศูนย์รวมใจและก่อให้เกิดความสามัคคีของประชาชนในท้องถิ่น  รวมทั้งประชาชนโดยทั่วไปและชาวต่างชาติ
    10. ได้จัดให้มีการฟื้นฟูการศึกษาด้านอักษรศาสตร์  โดยเฉพาะอักษรโบราณ เช่น อักษรไทยน้อย  
อักษรธรรมอีสาน  อักษรธรรมล้านนา และอักษรขอม  เป็นต้น  ซึ่งท่านเป็นผู้มีความสามารถในการอ่านเขียนอักษรเหล่านั้นอย่างดี  และฝึกสอนให้พระภิกษุสามเณร  ตลอดถึงศาสนิกชนที่สนใจให้ได้เรียนจนชำนาญเป็นจำนวนมาก  สามารถอ่านเขียน  และจดจารลงในแผ่นใบลานได้  อันเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา
อีกอย่างหนึ่ง
    11.  เผยแพร่พระพุทธศาสนา  โดยยึดหลักตามศาสนาธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ให้นับถือพระพุทธ  พระธรรม  และพระสงฆ์  ให้ละเว้นประเพณีถือภูตผีบูชายัญนอกศาสนา  สอนให้เข้าใจหลักแห่งพุทธศาสนาที่แท้จริง  ชักชวนเข้ามาเป็นพุทธมามกะเป็นจำนวนมาก

ประวัติพระศรีรัตนศักยมุนี (หลวงพ่อบุษราคัม)

    ในวันที่  29  มกราคม  พ.ศ. 2548  ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานเททองหล่อพระศรีรัตนศักยมุนี (หลวงพ่อบุษราคัม)  ณ  วัดโนนสว่าง ต.หมากหญ้า  อ.หนองวัวซอ  จ.อุดรธานี
    ประวัติความเป็นมาในการสร้างพระพุทธรูป  เพื่อเป็นองค์พระประธานในอุโบสถวัดโนนสว่างต.หมากหญ้า  อ.หนองวัวซอ  จ.อุดรธานี  มีความเป็นมาว่า พระครูพิพัฒน์วิทยาคม (พระอาจารย์เจริญ  ฐานยุตฺโต)  เจ้าอาวาสวัดโนนสว่างก่อนที่ท่านจะดำริถึงการสร้างอุโบสถก็ได้นิมิตเห็นพระพุทธรูป  3  องค์  เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องได้เสด็จมาทางนภากาศในปางขัดสมาธิ  ได้เปล่งแสงรัศมีสว่างไสวไปทั่วทั้งวัด  ตามในนิมิตของท่านได้มาหยุดอยู่ตรงหน้า  ท่านจึงได้กราบเรียนถามพระพุทธรูปทรงเครื่องทั้งสามองค์นั้นว่า  ท่านเสด็จมาจากไหน และมาเพื่ออะไร  พระพุทธรูปทั้งสามองค์ก็ตอบกับท่านเป็นภาษาเหนือว่า “มาชุ่มมาเย็นให้”  หรือจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาให้วัดนี้  พอพระพุทธรูปทั้งสามองค์กล่าวกับท่านเช่นนั้นแล้ว  พลันกลับกลายเป็นแสงสว่างดุจประทีปอันโชติช่วงลอยไปดับลงตรงลานดินกว้างหน้าศาลาการเปรียญซึ่งเป็นอุโบสถในทุกวัน  พอรุ่งเช้าของวันต่อมาขณะที่ท่านนั่งอยู่ในกุฎิ  ก็ได้มีพระเถระซึ่งเป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งจำนวน  3  รูป  เดินทางมาจากวัดอนาลโยทิพยาราม (ดอยบุษราคัม อ.เมืองพะเยา  คือพระราชสังวรญาณ (พระอาจารย์ไพบูลย์  สุมงฺคโล)  แห่งวัดอนาลโยทิพยาราม  ดอยบุษราคัมนั้นเอง  โดยที่พระครูพิพัฒน์วิทยาคมไม่ทราบมาก่อนว่าท่านเจ้าคุณจะมาเยี่ยมที่วัดโนนสว่าง  
ซึ่งระยะทางจาก จ.พะเยา  มายัง จ.อุดรธานี ไกลมาก  เมื่อท่านได้กราบนมัสการหลวงพ่อไพบูลย์  สุมังคฺโล  เรียบร้อยแล้ว  ท่านก็นึงถึงนิมิตของท่านที่คล้ายเหตุการณ์ในวันนี้  ท่านจึงกราบเรียนเล่าเรื่องราวในนิมิตให้หลวงพ่อไพบูลย์สดับฟัง  เมื่อฟังจบหลวงพ่อไพบูลย์ก็ยิ้มคล้ายกับว่าเป็นเรื่องไม่น่าแปลกอะไร  เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจให้กับท่านพระครูยิ่งนัก  อีกนัยหนึ่งเหมือนหลวงพ่อไพบูลย์รู้เรื่องที่จะเล่าถวาย
    ท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญาณ  เป็นพระเถระที่พระครูพิพัฒน์วิทยาคม ให้ความเคารพและนับถือยิ่ง  หลังจากที่ได้เล่าเนื้อความตามนิมิตถวายให้หลวงพ่อไพบูลย์ฟังเสร็จแล้ว  ไม่นานท่านจึงเดินทางกลับ จ.พะเยา
    ต่อมาท่านพระครูพิพัฒน์วิทยาคม  ได้ตั้งสัจจะไว้ในใจว่าจะต้องสร้างพระประธานเพื่อประดิษฐานไว้ในอุโบสถ  หน้าตักกว้าง  109  นิ้ว  เป็นเนื้อทองสัมฤทธิ์ให้ได้  ในชั้นแรกพระประธานที่ท่านจะให้ช่างปั้นขึ้นมานี้ไม่ใช่หลวงพ่อบุษราคัม  แต่ให้ปั้นตามแบบพระพุทธรูปเก่าองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระเนื้อสัมฤทธิ์เก่าแก่  ศิลปะแบบลานช้าง  ท่านก็ได้บอกลักษณะของพระพุทธรูปองค์นั้นให้ช่างฟัง  ต่อมาช่างได้ปั้นตามความต้องการของท่าน  เมื่อช่างได้ปั้นขึ้นถึงพระพักตร์ของพระพุทธรูปจึงนิมนต์ท่านมาดู  เมื่อพิจารณา
ดูแล้วท่านก็บอกกับช่างว่าพระพักตร์ไม่เหมือนเลยไม่เป็นที่พอใจ  จึงให้ปั้นใหม่ ช่างปั้นกี่ครั้ง ๆ ก็ไม่เป็นที่พอใจ  ทำให้ท่านพระครูเกิดความสงสัยขึ้นในใจว่า “ทำไมปั้นไม่ได้สักทีด้วยว่าฝีมือช่างก็ไม่ธรรมดา”  ท่านจึงพินิจพิจารณาพระพุทธรูปโดยละเอียดอีกครั้งด้วยความประหลาดใจ   คิดในใจว่า “ทำไมถึงปั้นไม่ได้สักที”  ทันใดนั้นกลับมีเสียงหนึ่งดังกังวานแว่วกล่าวกับตัวท่านว่า  “เรามาขออยู่ตั้งนานแล้ว  ทำไมไม่ปั้นเรา  ทำไมต้องไปปั้นองค์อื่น”  พอเสียงกังวานนั้นหายไปไม่นาน  ท่านก็เลยย้อนนึกถึงนิมิตเมื่อคราว
ครั้งก่อน  เมื่อคิดโดยละเอียดถี่ถ้วน  จึงเข้าใจในนิมิตธรรมอันประเสริฐนั้น  ต่อมาจึงให้ช่างเลิกปั้นพระพุทธรูปตามแบบองค์เดิม  ให้ปั้นตามแบบดั่งในนิมิตนั้นเอง
    เป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง  เมื่อช่างเริ่มปั้นทุกอย่างเป็นที่ราบรื่น  เมื่อแล้วเสร็จจึงนิมนต์ท่านพระครูมาดู  เมื่อท่านพิจารณาดูแล้วจึงพูดว่า “นี่แหละเหมือนกับที่เห็นในนิมิตเรา”  นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ยิ่งนักสำหรับพระประธานองค์นี้ต่อมาท่านได้ขอให้ท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญาณ  (หลวงพ่อไพบูลย์)  ถวายพระนามพระปฏิมากรองค์สำคัญ  ท่านถวายพระนามว่า “พระศรีรัตนศักยมุนี”  ทราบเรื่องจากท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญาณในภายหลังว่า  ตัวท่านไม่ได้เป็นผู้ถวายพระนาม  แท้จริงผู้ถวายพระนามคือ ท้าวสักกะเทวราช
    พระศรีรัตนศักยมุนี  หรือที่เรียกอีกนามว่า  หลวงพ่อบุษราคัม  องค์นี้ท่านพระครูพิพัฒน์วิทยาคมกล่าวว่า  ภายหน้าจักเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองในเขตนี้  ด้วยว่าเป็นพระพุทธรูปขององค์กษัตริย์  ผู้ที่จะเททองหล่อต้องไม่ใช่สามัญชนธรรมดา  ต้องเป็นผู้มีบุญญาธิการเปี่ยมล้น  ต้องเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง  ประดุจพระพุทธรูปองค์สำคัญในครั้งโบราณกาล เช่น หลวงพ่อพระใส  พระเสริม  พระสุก  ที่เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง  ซึ่งพระราชธิดาแห่งกษัตริย์ล้านช้างเป็นผู้สร้างขึ้นเป็นพระพุทธรูปควรแก่การกราบสักการะทั้งในปัจจุบันและในอนาคตกาลชั่วลูกชั่วหลาน
    นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่  ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี  เสด็จเป็นองค์ประธานเททองหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์สำคัญ  ในวันที่  29   มกราคม  2548  อันนำมาซึ่งความปิติยินดีเป็นล้นพ้นแก่เหล่าพสกนิกร  ชาวอำเภอหนองวัวซอ  และชาวจังหวัดอุดรธานีทุกผู้ทุกนาม.

ประวัติการศึกษาธรรม และพระเวศฯ พอสังเขป

       บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบุญญานุสรณ์ อำเภอหนองวัวซอ  อุดรธานี มีพระครูประสิทธิ์คณานุการ อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองวัวซอ ธรรมยุต เป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะเป็นสามเณรได้สนใจศึกษาหัดอ่านเขียนคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมอีสานกับพ่อใหญ่มั่นผู้เฒ่าที่ปราชญ์ชาวบ้านซึ่งสามารถอ่านเขียนและจารอักษรธรรมอีสานได้ และท่านผู้นี้เป็นฆราวาสที่มีอาคมด้วย จึงได้เรียนอักษรธรรมและอาคมบ้างพอประมาณ ต่อมาจึงสามารถอ่านเขียนอักษรธรรมล้านนาและอักษรไทยน้อยได้จนแตกฉานและสามารถจารหนังสือใบลานได้ตั้งแต่บรรพชาไม่ถึง ๒ พรรษา ความที่ไม่เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านจึงนับถือภูตผีปีศาจ จึงศึกษาถึงที่มาที่ไปจนผ่านไปหลายปีจึงทราบได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงให้เลิกนับถือสิ่งเหล่านั้นและให้ถือพระรัตนตรัยแทน จึงเริ่มสนใจในวิชาพุทธาคมและเริ่มศึกษาควบคู่ไปกับการศึกษาข้อความในคัมภีร์ซึ่งต่อมาทำให้เป็นผู้มีความรอบรู้ในเรื่องพระคัมภีร์อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระสูตร เรื่องราวในทางธรรมะต่างๆ ตำรายาแผนไทยโบราณ ตำราดวงชะตา ตำราลงอักขระปลุกเสกต่างๆ ซึ่งได้ศึกษาพอประมาณ
       ต่อมา จึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์สมพงษ์หรือพระธรรมสังวร วัดพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ อุดรธานีเรียนวิชาลงตะกรุดโทนและวิชารักษาคนผู้ถูกมนต์ทำร้ายเป็นต้น และอาศัยอยู่กับหลวงปู่โถน พระครูสถิตธรรมรัตน์ วัดโสกแจ อำเภอกุดจับ อุดรธานี ได้เรียนวิชาลงตะกรุดหกกษัตริย์ และกบตายคารู และลงนะหน้าทอง และอีกหลายอย่าง เป็นสามเณรอุปัฏฐากอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู เป็นต้น
       เมื่ออายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดป่าสามัคคีอุปถัมภ์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย โดยมีพระครูสิริธรรมวัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวินัยกิตติโสภณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระครูสุนทรนวกิจ วัดอรุณรังษี เป็นพระอนุสวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ฐานยุตฺโต” ในคณะธรรมยุต
เมื่ออุปสมบทแล้วได้ไปจำพรรษาอยู่กับพระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่เมตตาหลวง) วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม อำเภอปากช่อง นครราชสีมา หลวงปู่ให้เรียนเอาวิชาเมตตาหลวง ตำราเลขยันต์ คาถาลงตะกรุดโทน แคล้วคลาด ยันต์ตรีนิสิงเห และสอนให้บริกรรมธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ นะ มะ พะ ทะ  หลายปีต่อมาขณะจำพรรษาอยู่วัดป่าพรรณนานิคม ได้พบหลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก จังหวัดสุรินทร์
       เมื่อหลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน หนองบัวลำภู มรณภาพลง ได้มางานพระราชทานเพลิงศพท่านและได้รับนิมนต์ให้อยู่ต่อ ต่อมาพระครูพุทธศาสโนวาท (ชาลี) เจ้าอาวาสวัดศรีสว่าง (ชื่อวัดในขณะนั้น) ถึงแก่มรณภาพลง จึงได้อยู่ช่วยงานศพจนแล้วเสร็จ ชาวบ้านจึงอาราธนาให้จำพรรษาที่วัดนั้น และขอให้ช่วยพัฒนาวัดด้วยเพราะเป็นวัดในอำเภอบ้านเกิด จนกระทั่งได้รับแต่งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ต่อมาเปลี่ยนชื่อวัดศรีสว่างเป็น วัดโนนสว่าง และจำพรรษาอยู่จนปัจจุบัน ตั้งแต่มาช่วยพัฒนาอารามแห่งนี้ก็เจริญ รุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ พระครูพิพัฒน์วิทยาคมก็ได้ใช้สรรพวิชาพุทธาคมที่ได้เล่าเรียนมาตั้งแต่เป็นสามเณรช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนทั่วไปตามกำลังที่มี  ส่วนการสร้างวัตถุมงคลและปลุกเสกวัตถุมงคลนั้นได้ทำตามตำหรับวิชาผึ้งพันน้ำมันหมื่น จนทำให้วัตถุมงคลเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การนำไปสักการะบูชา


ผู้สืบสานตำหรับวิชาพุทธาคมอีสานโบราณผึ้งพัน น้ำมันหมื่น
       ในการปลุกเสกวัตถุมงคลของพระครูพิพัฒน์วิทยาคม ในขณะปลุกเสกนั้น จะต้องนั่งบนอาสนะที่หล่อด้วยขี้ผึ้งแท้หนัก ๔๐,๐๐๐ หรือ ๔๘ กิโลกรัม และบริกรรมธาตุและพระคาถาด้วยลูกประคำงาช้างจำนวน ๒๑๖ ลูก และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้คือ ครุภัณฑ์ ซึ่งก็คือเครื่องบูชาพระรัตนตรัยชุดใหญ่ อันประกอบด้วยเครื่องบูชาตามตำหรับโบราณหลายชนิดเช่น เครื่องพัน หมายถึงจำนวนละพันชิ้น และน้ำมันหมื่น อันได้แก่น้ำมันหลายชนิดเช่นน้ำมันงา หรือน้ำมันยางแบบโบราณแท้  ซึ่งทั้งหมดทั้งนั้นก็ คือเครื่องบูชาพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตั้งแต่สมัยโบราณ กล่าวกันสืบๆมาว่า ครูบาอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมสายอีสานโบราณจนถึงผู้ทรงวิทยาคมทางฝั่งลาวหากจะเรียนสรรพวิทยาคมต่างๆ หรือจะลงประจุคาถาอาคมลงในวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นนั้น ต้องแต่งเครื่องบูชาด้วยเครื่องบูชาที่เรียกว่า ผึ้งพัน น้ำมันหมื่นเท่านั้น เมื่อแต่งเครื่องบูชาแล้วจึงเริ่มทำพิธีมหาพุทธาภิเษก และลงประจุอาคม ที่สำคัญต้องกระทำการในวันบุญมหาชาติเท่านั้น จึงจะได้วัตถุมงคลที่ศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังมีอานุภาพเต็มเปี่ยมไปด้วยพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพและสังฆานุภาพ
ผึ้งพัน ประกอบด้วยเทียนขี้ผึ้งแท้ หนึ่งพันเล่ม ธูปพันดอก เมี่ยงหมากพันชุด บุหรี่พันมวน ดอกไม้ประกอบด้วย ดอกผักตบ ดอกบัวหลวง ดอกอัญชัน ดอกปีบ (ดอกก้านของ) ดอกโสน (ใช้ลำโสนมาแต่งเป็นดอกไม้)  ดอกคัดเค้า ขันบายศรี ข้าวเหนียวปั้นพันก้อน  กรวยกระทงใบฝรั่งพันกรวย เงินพันบาท ธงช่อ ธงหาง ข้าวคั่วตอกแตก จัดให้ได้อย่างละพัน พอสังเขปเท่านี้ และมีอีกหลายชนิดที่ไม่ขอกล่าวถึง น้ำมันหมื่น โบราณใช้น้ำมันยาง หรือน้ำมันงาหนักหนึ่งหมื่น ใส่กระปุกหรือขวดแก้ว ทุกอย่างที่กล่าวใส่ลงในภาชนะพานโตก หรือภาชนะจักสานขนาดใหญ่ ส่วนเทียนขี้ผึ้งห่อรวมกันไว้ด้วยผ้าขาวแล้วพันด้วยด้ายฝ้ายดิบสีขาว ทุกอย่างรวมเรียกว่า ครุภัณฑ์ เป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า นี่คือที่มาของคำว่าผึ้งพัน น้ำมันหมื่นที่พระครูพิพัฒน์วิทยาคมใช้เป็นเครื่องบูชาพระธรรมในการพิธีพุทธาภิเษกของวัดโนนสว่างตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
        พิธีพุทธาภิเษกของวัดโนนสว่างนั้น จะมีตำราสวดพุทธาภิเษกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระครูพิพัฒน์วิทยา เป็นสมุดไทย ๑ ชุดมีจำนวน ๔ เล่มใหญ่ มีชุดที่เป็นอักษรธรรมเขียนด้วยลายมือท่านเอง และชุดที่พิมพ์ด้วยอักษรไทย ซึ่งเนื้อหาจะประกอบด้วยพระคาถามากมายเป็นเอกลักษณะเฉพาะ
จึงสรุปได้ว่า พิธีพุทธาภิเษกจะต้องดำเนินไปด้วยความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ และถูกต้องตามระเบียบแบบแผนตามแนวทางของผู้ทรงวิทยาคมอีสานโบราณ
ขอเชิญชวนศิษยานุศิษย์ในเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ.๙) และพุทธศาสนิกชนทั่วไป เข้าร่วมพิธีมหาพุทธาภิเษกวัตถุมงคลและงานสมโภชพระพุทธนราสภะทศพล และสืบชะตาหลวงแบบอีสานโบราณ ปิดท้ายด้วยพิธีเถราภิเษกฮดสรง เพื่อเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัวต่อไป


admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 
เหรียญรุ่น1 สร้างปี2537 (หมด)

              เป็นเหรียญรุ่นแรก ที่หลวงพ่อยอมให้นำรูปเหมือนของท่านมาทำเป็นเหรียญ จากก่อนหน้านั้นท่านไม่ยอมให้ทำ เนื่องจากท่านบอกว่าท่านยังอายุน้อย ยังไม่พร้อม (คำบอกเล่าจากศิษย์รุ่นแรกๆ)  และเมื่อท่านยอมให้สร้าง ทำทั้งทีต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเหรียญเหล่านี้ลูกศิษย์นำไปใช้ ถ้าไม่ดีเขาจะมาว่าเราได้ ดังนั้นเมื่อท่านได้เหรียญมาท่านก็ปลุกเสกเต็มที่ ผู้เขียนไปกราบท่านหลังจากงานวันเกิดท่าน(เสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2554) วันอาทิตย์ที่5 มิถุนายน 2554 ช่วงเช้าหลังจากที่ได้เก็บของช่วยพี่ๆน้องๆ เก็บอุปกรณ์การจัดงาน วัตถุมงคลเสร็จ ก็ได้บูชาวัตถุมงคลบางรุ่นในวัด และได้เข้าไปกราบหลวงพ่อ ท่านดูมีความสุขมากที่เห็นลูกศิษย์ลูกหามากันเป็นจำนวนมาก และเช่าหาวัตถุมงคลของท่านไปใช้ปกปักรักษาตัว พอเห็นวัตถุมงคลท่านก็เล่าเรื่องต่างๆให้ฟัง หนึ่งในนั้นเป็นความเป็นมาเกี่ยวกับเหรียญรุ่น 1
      ขอเอาคำพูดมาเล่าคร่าวๆให้ได้อ่านกันครับ
      ท่านบอกว่า    "เหรียญรุ่นนึ่งนี่ดีเด้อ คั่นมีกะเก็บไว้ดีๆ ข่อยปลุกเสกโดน 8 เดือนพู้นเด้นี่"
                           คือปลุกเสกโดนแท้ครับหลวงพ่อ
                           "เอ่ามันเป็นรุ่นแรก บ่อเคยออกเหรียญ ย่านเขาเอาไปไซ่แล้วบ่อดีเขากะสิว่าเฮาได่"
                           ตอนนี้คนหากันหลายเด้ครับหลวงพ่อ บูซากันแพงอีหลีคับ เขาว่ามีประสบการณ์ครับ
                           "โอ้ยตะกี้กะแจก ผู่ได๋มาซ่อยงานกะแจกๆ ไป ไปอยู่กับชาวบ้าน ได้ไปเขากะห่อยเลย มันกะเกิดประสบการนั่นตั๊ว"
                           ......................................
                           "บ่อแม่นคือหมู่เจ่าน้อ ได่ไปกะเอาไปไว้เทิงหิ่งพู้น นิมนต์ไว้เทิงหิ่งเพิ่นกะอยู่เทิงหิง-อยู่บ้านตั๊ว อีหยังมันสิแล่นขึ้นไปเป็นอยู่เทิงหิงน้อหาเว่า
                             (อีหยัง=ประสบการณ์)"
                           "แต่ก่อนนี่ออกให่บูชา 100เดียว พอมันมีประสบการณ์ เขากะพากันมาเอา คนละเหรียญ สองเหรียญ แห่งทางเลิงใต้พู้นเหมารถมาเอาคนละ 5 เหรียญ 10 เหรียญพู้น"

*** จำนวนการจัดสร้าง  3,650 เหรียญ (ได้รับข้อมูลจากธรรมหนู กรรมการจัดสร้าง ณ ตอนนั้น ( กรรมการจัดสร้างมี 3 ท่าน คือ ธรรมหนู จ่าวัฒน์ และคุณสมชาย ว่ามีการจัดสร้างรุ่น 1 ทั้งรูปหล่อและเหรียญ จำนวน 5,000 โดยแบ่งเป็น เหรียญรุ่น 1 จำนวน 3,650 เหรียญ และรูปหล่อจำนวน 1,350 องค์) หลังจากเสกเสร็จหลวงพ่อท่านได้มอบพระให้กรรมการทั้ง 3 ท่านโดยมีรูปหล่อคนล่ะ 100องค์ เหรียญรุ่น 1 คนล่ะ 100 เหรียญ )
     
                          
         โปรดใช้วิจารณญานในการอ่านนะครับ ผมเพียงอยากให้ทราบว่าวัตถุมงคลแต่ละรุ่นหลวงพ่อที่ออกมาท่านตั้งใจทำเพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาเอาแล้วให้เอาไปใช้ ไม่ได้ให้เอาไปเก็บเพราะมันไม่เกิดประโยชน์ ฉันใดฉันนั้น ซื้อมีดเล่มใหญ่ๆคมๆมาแต่ท่านเก็บไว้ในบ้านกลัวมันเก่า เมื่อท่านอยากได้ไม้มาทำฟืนมากๆ แต่ท่านก็ยังใช้มือเปล่าไปหักหรือใช้มีดเล่มเก่าทื่อๆไปตัดไม้มาทำฟินอยู่ มันก็ไม่ได้ทำให้ท่านมีฟินชิ้นใหญ่ๆมากขึ้นมาทั้งที่ท่านมีมีดเล่มใหญ่คมๆ ก็ตามครับ
รูปภาพ: รุ่น 1.jpg
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 
เหรียญรุ่น2 สร้างปี2538 (หมด) ไม่มีข้อมูลการจัดสร้างและจำนวน


รูปภาพ: 2_14_3c9a8ab397d1c5a.jpg
รูปภาพ: 2_14_664a01aae27e0db.jpg
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 
เหรียญรุ่น3(พิเศษ) สร้างปี2539 (หมด)
รูปภาพ: 2_1_cf6fcbc40cfc805.jpg
รูปภาพ: 2_14_70a737e8155fc50.jpg
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 
เหรียญฉลองฉัตรทองคำ สร้างปี2545 (หมด)

          จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาศ จัดสร้างฉัตรทองคำ ถวายวัดโนนสว่าง จัดสร้างออกมา 2 แบบคือ เหรียญทองแดง จัดสร้าง จำนวน 15.000 เหรียญ และเหรียญเงินลงยา ไม่ทราบจำนวนสร้างที่แน่นอน
รูปภาพ: 2_14_161b3eb7a046bfa.jpg
รูปภาพ: 2_1_8a13eba310f5e7f.jpg
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 
เหรียญถวายฉัตรทองคำ สร้างปี2547 (หมด)

         หลังจากสร้างฉัตรทองคำเสร็จสิ้นก็นำมาถวายทางวัด และทางคณะผู้จัดทำจึงได้สร้างเหรียญถวายฉัตรทองคำขึ้น มีมอบให้ทางคณะผู้ที่จัดทำฉัตรทองคำและที่มาถวาย อีกส่วนหนึ่งถวายให้ทางวัด จำนวนการจัดสร้างยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด
รูปภาพ: 2_14_cfc759965b50507.jpg
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 
เหรียญเพชรแสนลูก สร้างปี2549(หมด)

         ลูกศิษย์สายตำรวจเป็นผู้จัดสร้าง เท่าที่เห็นมีเหรียญทองแดงรมดำ และเหรียญทองแดง 3 กษัตริย์  ส่วนเนื้ออื่นๆ และจำนวนสร้างไม่ทราบแน่ชัด
รูปภาพ: 2_1_d62be5baf929272.jpg
รูปภาพ: 2_14_808d31159b47d6f.jpg
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 
เหรียญขอมดำดิน(เตารีด) สร้างปี2549 (ขอบคุณข้อมูลต่างๆ จากพี่นนท์(ผู้จัดสร้างเหรียญรุ่นนี้)) (หมด)

            เป็นเหรียญที่เด่นด้านเมตตา คงกระพัน ปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากมีคนนำไปใช้แล้วเกิดประสบการณ์กับผู้ใช้ และได้เล่ากันปากต่อปาก จนปัุจจุบันจัดว่าเป็นเหรียญที่หายากอีกเหรียญหนึ่งของหลวงพ่อเจริญฯ และในไม่ช้านี้เหรียญนี้จะเป็นเหรียญที่ติดแรงอันดับต้นๆ ของหลวงพ่อเจริญฯ อย่างแน่นอนครับ ผู้จัดสร้างได้สร้างถวายหลวงพ่อจำนวน 3,000 เหรียญ  แยกเป็น
            1. เหรียญตอกโค๊ต จำนวน 1,500 เหรียญ  หลวงพ่อแจกประมาณ 300 องค์ และให้บูชาที่วัดส่วนหนึ่ง อีกจำนวนหนึ่งหลวงพ่อเก็บเข้าไห(กรุ)
            2. เหรียญบางไม่ตอกโค๊ต จำนวน 1,500 เหรียญ หลวงพ่อแจกในพิธีทั้งหมด

เรื่องเล่าโดย ท่านcoke

พระคาถาขอมดำดิน
         พระคาถานี้หลวงพ่อได้มาจากขอมดำดินเป็นคนนำมามอบให้ที่วัด หรือในงานพุทธาภิเษกไม่แน่ใจท่านเล่าให้ฟังนานแล้ว แต่น่าจะเป็นที่วัดนะ ท่านเล่าว่าวันนั้นท่านนั่งอยู่ (น่าจะเป็นการเข้าสมาธิ) ท่านเห็นอะไรไม่รู้มาดำผุดดำว่ายต่อหน้าท่านแต่อยู่ไกลๆ ท่านว่าดำผุดดำโผล่นี่พื้นดินนะครับ ไม่ใช่ในน้ำ  เดี๋ยวก็ผลุบลงตรงนี้ ไปโผล่ตรงโน้น จากตรงโน้นมาโผล่ตรงนี้แต่ไกลท่านว่า ก็แปลกใจว่าอะไรครั้งแรกยังไม่ได้ถามก็ได้แต่เฝ้ามองตามไปเรื่อยๆ ท่านบอกว่าเวลามันโผล่ขึ้นมานี่่นะดินมันแตกโผละออกเหมือนพลุแตก ยังไงยังงั้น " (ท่านนั่งบนแคร่ไม้ทำมือประกอบลักษณะการแตกโผล่ะให้ดูด้วย) สักพักท่านก็เลยถามไป " ใครต้องการอะไร " ทันใดนั้น...สิ่งนั้นมาโผล่ตรงหน้าท่านเลยคราวนี้ เป็นผู้ชายมีผ้ามวยผมไม่ใส่เสื้อโผล่มาแค่ครึ่งตัวและบอกว่าเขาคือขอมดำดิน แล้วก็มอบคาถาขอมดำดินให้ท่านพอบอกเสร็จก็ดำดินหายไปเลย  ท่านเล่ายิ้มๆอย่างอารมภ์ดีว่านี่ถ้าเอามาขุดอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินคงดี ลูกศิษย์ก็เลยพากันหัวเราะกันอย่างครื้นเครง ภายหลังท่านได้ลองวิชานี้ก็ได้พบกับความศักดิ์สิทธิ์ของคาถาเป็นที่ประจักษ์พอดีมีลูกศิษย์มาขอสร้างเหรียญท่านเลยให้นำพระคาถานี้บรรจุในเหรียญ เลยเป็นชื่อของเหรียญรุ่นนั้นว่า " เหรียญขอมดำดิน "  รุ่นนี้ได้ยินว่าหลวงพ่อใส่ไหหมดแล้วครั้งหลังสุดพี่ ปณ.ไปขอให้หัวหน้าก็ไม่ได้ ถ้าสร้างขึ้นมาอีกถือเป็นโอกาสดีครับถ้าใครยังไม่มีแนะนำให้เก็บนะ โดยเฉพาะพระที่ท่านสร้างรุ่นใหม่ก็จะใส่คาถาเข้าไปอีกไม่ผิดหวังครับ...
รูปภาพ: 2_14_57dec204641fea8.jpg
รูปภาพ: 2_14_806c5888516939f.jpg
admin ออฟไลน์
ระดับ: ผู้ดูแลระบบ
รายละเอียดผู้ใช้ 
เหรียญฉลองศาลาการเปรียญ วัดป่าเจริญธรรม (บ้านเพ็ก) ปี2549

          วัดป่าเจริญธรรม(วัดบ้านเพ็ก) ซึ่งเป็นวัดสาขา ได้ขอจัดสร้างและนิมนต์หลวงพ่อไปปลุกเสก ในโอกาศที่วัดบ้านป่าเจริญธรรมฉลองศาลาการเปรียญ มีออกมาให้เห็นเป็นเหรียญทองแดง
รูปภาพ: 2_14_3afeb82f7463493.jpg
รายละเอียดไฟล์แนบ
กล่องตอบกลับด่วน

กรุณาใช้ข้อความที่สุภาพ คุณสามารถบันทึกฉบับร่างได้
กด "Ctrl+Enter" เพื่อตั้งกระทู้ได้